วันที่ 21 พ.ย.60 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพิ่มความเสมอภาคทาง การศึกษา พ.ศ.... ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฎิรูปการศึกษา เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หวังลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูอาจารย์ รวมถึงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม และมีศักยภาพในการดำรงชีวิตพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง สำหรับกลุ่มเป้าหมายของกองทุนฯนั้นมีทั้งสิ้น 43 ล้านคน แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม คือ 1.เด็กเล็ก อายุ 0-2 ขวบ ของครอบครัวที่ขาดทุนทรัพย์ 2.เด็กก่อนวัยเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส อายุ3-5 ขวบ 3.เด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาภาคบังคับ 4.กลุ่มครูและอาจารย์ 5.การจัดทำระบบข้อมูล และ 6.การพัฒนาระบบนวัตกรรมขณะที่เงินทุนจะมาจากทั้งหมด 4 แหล่ง คือ เงินทุนประเดิมจากรัฐบาล จำนวน 1,000 ล้านบาท , เงินอุดหนุนรายปี เบื้องต้นมีข้อเสนอร้อยละ 5 ของงบประมาณที่ช่วยการศึกษาเด็กยากจน หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวอาจปรับให้เหมาะสมต่อไป 3.เงินบริจาคของผู้เสียภาษีจะไม่เกินคนละ 5,000 บาทต่อปี ซึ่งสามารถนำไปหักลดภาษีได้สองเท่า แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ ส่วนนิติบุคคลต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไร หรือ 500,000 บาท และเงินจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางว่า เป้าหมายที่สำคัญ คือ จะเป็นประโยชน์กับเด็กปฐมวัย เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ซึ่งการบริหารงานของกองทุนจะมีคณะกรรมการบริหารวาระละ 3 ปี เป็นกองทุนอิสระ ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่า การลงทุนในกลุ่มเด็กปฐมวัยนั้นจะมีผลตอบแทนคุ้มค่ามากที่สุด