จากกรณีพบผู้ป่วย 27 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ที่จ.มหาสารคาม จากอาหารเป็นพิษ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค ได้เผยถึงสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทยว่า ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 พ.ย.60 พบผู้ป่วยแล้ว 93,234 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุดคือ 15-24 ปี ตามด้วย 65 ปีขึ้นไป และ 45-54 ปี 5จังหวัดที่ป่วยสูงสุดคือ ลำพูน ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราป่วยสูงสุด ตามด้วยภาคเหนือ ทั้งนี้ โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ) สารพิษหรือสารเคมี มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารไม่สะอาด และอาหารที่ปรุงไว้นานแล้วไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง/ยำทะเล 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6 ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน อาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงปรุงโดยลวก-พล่าสุกๆ ดิบๆ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว ควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังปรุงเสร็จ หากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน ให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และรักษาสุขอนามัย จะช่วยป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้ สำหรับอาการคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า อาจมีไข้ เป็นต้น การช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้สารละลายเกลือแร่โออาร์เอสหรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422