เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ภัทรพงษ์ มกรเวส ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ทำหัตถการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สายผ่านทางหลอดเลือดดำ TransCatheter Pacing Technology เป็นครั้งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผศ.ภัทรพงษ์ มกรเวส ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ เปิดเผยว่า การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สายผ่านทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าและมีความจำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ Pacemaker โดยปกติจะมีส่วนประกอบอยู่สองอย่างด้วยกันคือ เครื่องกระตุ้นหัวใจ Pacemaker Generator และสายเครื่องกระตุ้นหัวใจ Pacemaker lead ปัญหาของการใส่เครื่องช่วยการเต้นของหัวใจคือการหาเส้นเลือดที่จะนำพาสายเข้าไปในห้องหัวใจเพื่อทำการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อทำให้หัวใจเต้นได้ตามปกติโดยเฉพาะในรายที่ต้องทำการล้างไตผ่านทางหลอดเลือดข้างที่แพทย์ต้องการทำหัตถการ หรือภาวะเส้นเลือดที่ผิดปกติรวมไปถึงสภาวะติดเชื้อ อีกปัญหาหนึ่งคือความชำรุดของสายไฟที่นำกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ การใส่ทางหลอดเลือดที่ผ่านกระดูกบริเวณไหปลาร้าอาจทำให้เกิดการชำรุดของสายได้ ซึ่งเมื่อเกิดการชำรุดของสายไฟฟ้านี้การนำสายไฟออกจากร่างกายผู้ป่วยนั้นก็มีความเสี่ยงในการทำหัตถการนี้เช่นกันในระยะยาว ด้วยเทคโนโลยีใหม่ได้มีการคิดค้นเครื่องกระตุ้นหัวใจโดยไม่ใช้สายไฟฟ้า เครื่องจะถูกลดขนาดให้มีขนาดเล็กลงและใส่ผ่านทางหลอดเลือดเข้าไปวางในห้องหัวใจด้านล่างเพื่อกระตุ้นหัวใจได้โดยตรงไม่ต้องใช้สายไฟในการนำไฟฟ้า ขนาดของเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดนี้นั้นมีขนาดเพียง 0.8 cc หรือเล็กกว่าเครื่องที่ใช้แบบทั่วไปมากกว่า 10 เท่า โดยได้อายุการใช้งานที่ดีขึ้น คือประมาณ 10-12 ปี และเป็นการผ่าตัดเล็กที่เป็นเพียงการสอดสายนำเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดนี้เข้าไปวางในหัวใจโดยไม่มีแผลบริเวณผิวหนัง ได้รับการ approve จากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา USA FDA ในการใช้กับผู้ป่วย เมื่อ 6 เมษายน 2559 สำหรับเมืองไทยได้นำเข้าเพื่อใช้กับผู้ป่วยเมื่อปี 2559 โดยมีการเริ่มใช้ในโรงพยาบาลเอกชนในช่วงแรกเนื่องจากราคายังคงสูง ต่อมาเริ่มมีการใช้ในโรงเรียนแพทย์โดยมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดนี้ ในการทำหัตถการนี้ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ เป็นแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการใส่เครื่องชนิดนี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป