ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีนได้ประสบความสำเร็จในการนำยานสำรวจลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 เมื่อนับตั้งแต่นั้นจนถึงวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร “จู้หรง” ปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดาวอังคารแล้ว 90 วัน (ประมาณ 92 วันของโลก) รวมระยะทางในการเดินทางสำรวจกว่า 889 เมตร โดยยานสำรวจได้เปิดใช้งานอุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด และได้รับข้อมูลดิบทั้งหมดประมาณ 10 GB ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในภารกิจสำรวจพื้นผิวดาวอังคารตามที่ได้กำหนดเอาไว้ ทั้งนี้ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำนี้ยังคงทำงานได้เป็นอย่างดี สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมั่นคง และมีพลังงานเพียงพอ พร้อมในการปฏิบัติภารกิจสำรวจบริเวณแถบเขตแบ่งทะเลและพื้นดินดึกดำบรรพ์ทางตอนใต้ของที่ราบยูโทเปีย พลานิเตีย (Utopia Planitia) ต่อไป แผนที่เส้นทางการสำรวจของยาน “จู้หรง” ระหว่างการสำรวจนี้ ยานสำรวจ “จู้หรง” ได้ปฏิบัติภารกิจสำรวจในรูปแบบการสำรวจประสิทธิภาพสูง กล่าวคือ ยานสำรวจ “จู้หรง” จะมีภารกิจสำรวจแบบรายสัปดาห์ รวมทั้งหมด 7 วัน โดยมีการสำรวจทุก ๆ วัน และในแต่ละวันจะมีแผนการสำรวจแตกต่างกันไป ภาพที่ถ่ายโดยกล้องด้านหลังของยานสำรวจ “จู้หรง” ปัจจุบัน ยานโคจร (Orbiter) เคลื่อนที่อยู่ในวงโคจรถ่ายทอดสัญญาณวิทยุ เพื่อรับ-ส่งสัญญาณวิทยุให้แก่ยานสำรวจบนพื้นผิวดาวอังคาร ระหว่างกลางเดือนกันยายนถึงปลายเดือนตุลาคมของปี 2021 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เมื่อโลกและดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งระหว่างดวงอาทิตย์และเรียงตัวกันจนเกือบเป็นเส้นตรง (Sun Transit) ส่งผลให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนจากดวงอาทิตย์ จึงทำให้ปฏิบัติการสำรวจบนดาวอังคารขาดการติดต่อระหว่างอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้นดินประมาณ 50 วัน และส่งผลให้ยานโคจร (Orbiter) และยานสำรวจ “จู้หรง” จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่โหมดปลอดภัย และหยุดปฏิบัติการสำรวจไป อย่างไรก็ตาม หลังจากปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ดังกล่าวสิ้นสุดลง ยานโคจร (Orbiter) จะถูกควบคุมจากระยะไกลให้เข้าสู่วงโคจรในโอกาสที่เหมาะสมเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารอีกครั้ง ให้ได้รับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโครงสร้างและลักษณะทางธรณีวิทยา ส่วนประกอบของพื้นผิวและชนิดของดิน ชั้นบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมในอวกาศของดาวอังคาร ในขณะเดียวกันก็ยังคำนึงถึงการรับ-ส่งสื่อสารในภารกิจการสำรวจดาวอังคารขั้นต่อไป