ปฏิเสธไม่ได้ว่าการวิ่งของ ตูน-บอดี้สแลม สร้างการรับรู้และเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างมากมาย ไม่ใช่วงการสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องการเมือง สังคม และวัฒนธรรม กับคำถามใหม่ๆ มากมาย ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า การวิ่งของพี่ตูนและทีมงานกับระยะทางในการวิ่งที่ไกลเกินความสามารถของคนทั่วไปจะทำได้ จะต้องตามมาด้วยการบาดเจ็บของร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ทีมสนับสนุนทางการแพทย์ จึงเป็นอีกทีมหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำให้ภารกิจของพี่ตูน (ตอนนี้กลายเป็นภารกิจของคนทั้งประเทศไปแล้ว) สำเร็จลงได้ตามเป้าหมายทั้งระยะทางและเวลาที่กำหนด งานเบื้องหลังทีมแพทย์ที่มี คุณหมอเมย์ และทีมกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลพระรามเก้า และ โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ดูแลพี่ตูนอยู่แล้วนั้น ยังมีทีมนักกายภาพบำบัดจากทั่วประเทศ ที่อยู่บนเส้นทางการวิ่งของพี่ตูน คอยเป็นอาสาสมัครทำกายภาพบำบัดอยู่เบื้องหลังตามจุดพักให้กับทีมนักวิ่งหลักก้าวคนละก้าว ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง และประชาชนทั่วไปที่มาร่วมวิ่ง ทีมกายภาพบำบัดข้างทางเหล่านี้จะทำหน้าที่ด้วยการเตรียมกล้ามเนื้อให้กับนักวิ่งก่อนทำการวิ่งและดูแลกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บจากการวิ่งเสร็จในแต่ละระยะ ถือว่าเริ่มต้นทำงานก่อนแต่เสร็จภารกิจที่หลังเสมอ ในระหว่างการวิ่งหลายครั้งก็ต้องวิ่งไปกับทีมงานก้าวคนละก้าว เพื่อดูแลคนที่มาร่วมวิ่งกับพี่ตูน ไม่ให้ได้รับการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น หรือให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างทันทีในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บขึ้นอย่างกะทันหัน ถือเป็นภารกิจอีกภารกิจหนึ่งที่บุคลากรด้านสุขภาพโดยเฉพาะนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศที่จะช่วยสนับสนุนโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อเชื่อมโยงเครือข่ายนักกายภาพบำบัดประจำเขตในการจัดตั้งทีมกายภาพบำบัดข้างทาง เตรียมสถานที่ จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับพื้นที่และรูปแบบของการรักษา ถือเป็นการทำงานเบื้องหลังที่ทำด้วยหัวใจโดยไม่มีระบบสั่งการแบบราชการได้อย่างน่าชื่นชม ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต