ด้วยการคิดค้นไม่สิ้นสุดของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอวกาศที่เป็นความท้าทาย และกลายเป็นความคึกคัก มีเอกชนสนใจไปอวกาศมากมาย และหนึ่งในนั้นมาแบบแปลกใหม่แหวกแนวไม่เหมือนใคร ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงการเดินทางแบบใหม่เพื่อไปอวกาศ โดยระบุ "SpinLaunch: ทางออกใหม่ของระบบขนส่งอวกาศ? ในเวทีของโลกปัจจุบันที่การขนส่งไปยังอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากนั้น เราอาจจะกำลังมีผู้เล่นใหม่ในการขนส่งลำเลียง payload ไปยังอวกาศ โดยวิธี... เหวี่ยงขึ้นไป? นี่ไม่ใช่มุขตลก หรือเรื่องล้อเล่น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไปแล้ว และอาจจะกำลังจะจริงกว่านี้ในอนาคตอันใกล้ ในวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท SpinLaunch ได้ทดสอบการยิงจรวดขึ้นไปจากระบบปล่อยจรวดเป็นครั้งแรก และได้สามารถส่งจรวดขึ้นไปยัง suborbital flight ถึงกว่าหลายหมื่นฟุต ก่อนที่จรวดจะตกกลับลงมายังโลกในสภาพที่พร้อมใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นอันยืนยัน Proof of concept ของระบบขนส่งจรวดอันแปลกใหม่นี้ แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้ระบบขนส่งนี้แปลกตามากกว่าการส่งจรวดอื่นใด นั่นก็คือนี่เป็นการ "เหวี่ยง" จรวดขึ้นไปบนฟ้า หรือพูดให้ง่ายๆ ก็คือการ "โยน" มันขึ้นไปนั่นแหล่ะ โดยจะเริ่มจากการใช้แขนเหวี่ยงน้ำหนักบรรทุก ภายในห้องสูญญากาศที่ความเร็วสูงมากๆ เมื่อการหมุนสามารถเร่งความเร็วของน้ำหนักบรรทุกได้มากพอแล้ว จึงปล่อยน้ำหนักบรรทุกให้พุ่งออกไปตามแนวที่กำหนด ซึ่งด้วยความเร็วอันมหาศาลกว่า 8000 km/h ซึ่งนับเป็นความเร็วหลายเท่าของความเร็วเสียง ด้วยความเร็วอันมหาศาลนี้จรวดที่ถูกปล่อยออกไปจาก SpinLaunch จะสามารถ "ลอย" ไปตามทิศทางจนถึงวงโคจรในอวกาศได้เอง ในขณะที่จรวดทั่วๆ ไปนั้น จะต้องแบกเชื้อเพลิงที่คอยจุดเร่งความเร็วไปด้วยระหว่างทาง ทำให้ยิ่งขึ้นไปสูง หรือยิ่งแบกน้ำหนักบรรทุกมากเท่าใด ก็ยิ่งจะต้องแบกเชื้อเพลิงมากขึ้นไปด้วยเท่านั้น ทำให้จรวดที่จะต้องส่งขึ้นไปนั้นมีขนาดและมวลอันมหาศาล การที่เราสามารถ "โยน" จรวดขึ้นไปยังอวกาศได้โดยตรงเลยนั้น จึงเท่ากับว่าเราสามารถตัดน้ำหนักบรรทุกของจรวดลงไปได้อย่างมาก และการเร่งความเร็วโดยการหมุนที่ใช้ไฟฟ้านั้น ยังหมายความว่าเราสามารถใช้ "พลังงานสะอาด" เช่น พลังงานทดแทน ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับระบบขนส่ง ไม่ต้องสร้าง carbon footprint จำนวนมากเช่นเดียวกับจรวดเคมีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ยังมีข้อจำกัดเช่นกัน อันดับแรกเนื่องจากนี่เป็นเพียงการส่งขึ้นไปจากพื้น จรวดที่ถูก "โยน" ขึ้นไปนั้นยังมีความจำเป็นที่จะต้องบรรทุกเชื้อเพลิงจรวดขึ้นไปเพื่อปรับให้เข้าไปอยู่ในวงโคจรอยู่ดี ซึ่งจรวดในขั้นตอนทดสอบที่ทำมานี้ยังเป็นเพียงจรวดเปล่าที่ไม่ได้ติดเครื่องยนต์ไปด้วย เราจึงยังไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรได้ และเราจึงยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่าในการทดสอบถัดๆ ไปบริษัท SpinLaunch จะสามารถส่งจรวดไปโคจรได้จริงหรือไม่ นอกไปจากนี้การ "เหวี่ยง" ที่ความเร็วสูงเช่นนี้ย่อมหมายถึงแรง g ที่มหาศาลถึงกว่า 10,000g เราจึงไม่ต้องคาดหวังว่าจะมีมนุษย์ที่สามารถถูกส่งไปยังอวกาศด้วยวิธีนี้ได้เร็วๆ นี้ และการส่งยังคงถูกจำกัดอยู่กับน้ำหนักบรรทุกเล็กๆ และแม้กระทั่งน้ำหนักบรรทุกเหล่านี้ก็ต้องประกอบขึ้นด้วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทนทานแรง g อันมหาศาลเหล่านี้ได้ แต่หากสามารถทำได้สำเร็จจริง บริษัท SpinLaunch คาดการณ์ว่าวิธีนี้จะสามารถส่งจรวดไปยังวงโคจรได้โดยใช้เชื้อเพลิงน้อยลงไปถึง 1 ใน 4 และสามารถลดค่าใช้จ่ายลงมาได้ถึง 1 ใน 10 และนอกไปจากนี้ ความเรียบง่ายของระบบขนส่งย่อมหมายถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะส่งน้ำหนักบรรทุกไปยังอวกาศได้วันละหลายรอบ อาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะมีการส่งดาวเทียมขนาดเล็กเป็น constellation ขึ้นไปโดยวิธีนี้ หรือนักท่องเที่ยวในสถานีอวกาศอนาคตอาจจะได้รับเสบียง หรือพัสดุจากพื้นโลกที่ถูกส่งขึ้นไปโดยวิธีนี้ก็เป็นได้ ระบบขนส่ง SpinLaunch นี้ถูกเริ่มพัฒนาขึ้นมาในปี 2015 ภายในสองปีให้หลัง เครื่องเร่งของ SpinLaunch ได้ทำลายสถิติใหม่ในการเป็นเครื่องหมุนที่สามารถทำความเร็วปลายแขนได้เร็วที่สุด และความสำเร็จในการส่งจรวดขึ้นไปใน suborbital flight ในวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมานับเป็นสัญญาณที่ดียิ่งของความเป็นไปได้นี้ อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม: [1] https://www.space.com/spinlaunch-first-test-flight-success [2] https://www.slashgear.com/spinlaunch-kinetic-launch.../ [3] สามารถดูคลิปวีดีโอ และภาพที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยครั้งแรกได้ที่ https://www.spinlaunch.com/gallery"