มทม.เดินหน้าพัฒนาด้านการศึกษา พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดแบบ Active Learning และ Real Life Education รวมถึงผลักดันและส่งเสริมงานการวิจัยของนักศึกษาและคณาจารย์ ก้าวสู่ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวว่า ปี 2565 นี้ถือเป็นปีแห่งความท้าทายของการศึกษาอีกครั้งในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกยังคงมีระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.) ยังแน่วแน่ในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบการศึกษาของประเทศเพื่อนผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ ๆ ให้เป็นนักนวัตกร ที่มีคุณภาพสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม "ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไทยได้เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการปรับตัวและใช้ชีวิตทั้งด้านไลฟ์สไตล์ ธุรกิจ และระบบการศึกษาเป็นต้น โดยเทคโนโลยีเข้ามีบทบาทจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจในมิติการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นเหตุผลให้นักเรียนเลือกสถานศึกษาที่ดีที่สุดและเหมาะกับตัวเองมากที่สุด ดังนั้นในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครนอกจากจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องและเกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่นักศึกษาแล้ว ยังเดินหน้าพัฒนามหาวิทยาลัย ทั้งในด้านอาคารเรียนและห้องปฏิบัติการ รวมถึงหลักสูตรการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2564 ได้เปิดอาคาร สถาบันนวัตกรรมมหานคร (Mahanakorn Institute of Innovation หรือตึก MIIX) ขึ้น เพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นด้านวิศวกรรมศาสตร์" ผศ. ดร. ภานวีย์ กล่าว สำหรับ อาคารสถาบันนวัตกรรมมหานคร หรือตึก MIIX ใช้งบประมาณกว่า 180 ล้านบาท ในการสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความรู้ทางทฤษฎีบวกกับความคิดสร้างสรรค์ของตนเองมาพัฒนาจากการทดลอง(Experiment) มาปฏิบัติด้วยตนเองจนสั่งสมเป็นประสบการณ์ (Experience) และความชำนาญ (Expertise) ให้เกิดเป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริง เป็นไปตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่จะก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศ (Excellence) ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดยอาคาร MIIX นี้ ได้รวบรวมห้องทดลองและห้องปฏิบัติการต่าง ๆ อาทิ ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ (Robotics LAB) ที่รวบรวมแขนกลโรงงานระดับแบรนด์ชั้นนำ ABB KUKA และ Yaskawa ห้องพิมพ์ขึ้นรูปสามมิติ (3D Printing Room) โรงงานผลิตน้ำดื่ม (Process Control and Automation LAB) ห้องปฏิบัติการ PLC Mitsubishi และ PLC Siemens (Programmable Logic Control) ห้องปฏิบัติการขั้นสูง อาทิ ห้อง Advanced Electronics LAB เป็นห้องปฏิบัติการเครื่องมือเฉพาะ สำหรับการตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าระดับพิเศษความถี่สูง การเกิดสัญญารบกวน คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า สัญญาณการสื่อสารไร้สาย และห้อง Embedded and AI ห้องปฏิบัติการที่ประกอบด้วยเครื่องมือวัด โปรแกรมประยุกต์ สื่อการพัฒนาระบบ ซึ่งมีใช้งานระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ทดสอบและวิเคราะห์ แล้วนำมาซึ่งการสังเคราะห์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดและภาคอุตสาหกรรม ด้วยการฝึกใช้เครื่องมือ ฝึกการคิดวิเคราะห์ และแยกแยะ ฝึกการประยุกต์ใช้และต่อยอดความรู้ในด้านการประดิษฐ์นวัตกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ในปี 2565 ทาง มทม.ยังมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่เพิ่มเติมในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมควบคุมอุตสาหกรรมและเครื่องมือวัด วิศวกรรมกระบวนการผลิต วิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนการลงทุนและพัฒนาในอีกหลายด้านต่อไปในอนาคต รวมถึงมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมทุนกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนอีกหลายแห่ง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, ทรู คอร์ปอเรชั่น, สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ ครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การวิจัย การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และอื่น ๆ เช่น การจัดตั้งห้องวิจัย Mahanakorn Laboratory ที่มหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ ประเทศอังกฤษเพื่อเป็นห้องวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักศึกษา การวิจัยกับ The University of New South Wale ประเทศออสเตรเลีย และ เดอะ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เชฟฟิลด์ (The University Of Sheffield) ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมทม. ได้ประสบความสำเร็จในด้านการสำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพโดย 95% ของบัณฑิตที่จบจาก มทม. มีงานทำ นักศึกษาและผู้ปกครองจึงมั่นใจได้ว่า มทม. จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ในอนาคตป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม อันเป็นรากฐานสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะผลักดันโครงการเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ บนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมของประเทศไทยเราให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน