ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งด้วยสถานการณ์โควิด 19 และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีทำให้ “ครูยุคใหม่” ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ภาพของการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัย หลากหลาย และเหมาะสมกับผู้เรียนจึงเกิดขึ้น แต่ถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้ามากเท่าไร หากแต่ด้วยความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมก็ยังคงกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กบางกลุ่มอยู่ดี เด็กด้อยโอกาส เป็นคำที่ใช้เรียกเด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หลากหลาย ทั้งจากสภาพครอบครัวที่เผชิญกับความยากจนทำให้เด็กขาดโอกาสในหลายๆ ด้าน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สำรวจจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษ พบว่ามีแนวโน้มที่มากขึ้นปีละหลายหมื่นคน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษ 1,174,444 คน ครั้นพอภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ทั้ง ๆ ที่ระยะห่างของ 2 ภาคเรียนมีระยะเวลาไม่มากนัก แต่จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษกลับเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ขณะที่เด็กด้อยโอกาสอีกกลุ่มหนึ่งอาจเกิดจากสถานภาพครอบครัวที่เป็นชนกลุ่มน้อย หรือเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของครอบครัวที่เป็นชนวนนำไปสู่การเป็นเด็กเร่ร่อน เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายทารุณ ถูกบังคับให้ขายแรงงาน/แรงงานเด็ก เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศ/โสเภณีเด็ก และเด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ปฏิบัติการกรมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (War room) ได้เก็บข้อมูลจำนวนเด็กและเยาวชนในสถานควบคุมพบว่า อายุต่ำสุดที่กระทำผิดคือ 10 ปี ขณะที่อายุ 17 ปีเป็นช่วงอายุที่ทำความผิดมากที่สุด เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษาพบว่าระดับสามัญศึกษาเป็นระดับชั้นที่มีเด็กกระทำผิดมากที่สุด นอกจากนี้ช่วงเดือนที่เด็กกระทำความผิดมากที่สุดในปี 2563 คือเดือนเมษายน รองลงมาคือเดือนพฤษภาคม ซึ่งสังเกตได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เด็กปิดเทอม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ครูยุคใหม่” จึงไม่เพียงแต่ต้องแบกรับกับการปรับตัวด้านเทคโนโลยี หากแต่ยังต้อง “พร้อมรับมือ”และ “พร้อมเข้าใจ” เด็กด้อยโอกาสกลุ่มนี้ เพราะยิ่งนับวันด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้เด็กหลายๆคน กลายเป็นเด็กด้อยโอกาสได้ การเตรียมความพร้อมของครูอยู่เสมอ และการทำความเข้าใจในบริบทของเด็กย่อมทำให้ครูสามารถที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และแม้ว่าโอกาสของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ “ครู” สามารถที่จะสร้างโอกาสเฉพาะให้เกิดขึ้นสำหรับเด็กได้ ด้วยการวางแผนพัฒนาเด็กจากความชอบและความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ดีการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในชุมชน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้ได้ ทั้งโอกาสในการพัฒนาตนเอง โอกาสในการมีรายได้เสริม รวมไปถึงโอกาสได้การสร้างงาน นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ คือ การเติมเต็มสิ่งที่เขาขาด และการต่อยอดสิ่งที่เขามี เนื่องจากเด็กบางคนไม่ได้ต้องการคะแนนที่ดีแต่ต้องการความรักความอบอุ่น เด็กบางคนไม่ได้ต้องการเงินแต่ต้องการคนเข้าใจและรับฟัง เด็กบางคนไม่เก่งวิชาการแต่เล่นกีฬาเก่ง การที่ครูเติมเต็มและต่อยอดให้ถูกทาง ก็จะทำให้เขามีโอกาสที่จะลบคำว่าเด็กด้อยโอกาสได้มากขึ้น ดังนั้น ครูยุคใหม่จึงไม่เพียงแค่เก่งเทคโนโลยี หรือสอนเก่ง หากแต่ยังต้องสามารถสร้าง ส่งเสริม และพัฒนาเด็กทุกคนได้ เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาส !!! ผศ.ดร.ศุภศิริ บุญประเวศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต