เมื่อวันที่ 30 ม.ค.65 ที่สนามสอบศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจากเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) ในการตรวจสนามสอบครูผู้ช่วยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นสนามสอบหลัก เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีตามหลักเกณฑ์ที่ทางกคศ. วางระเบียบไว้ และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้เข้าสอบในการเดินทางไปสอบในจังหวัดที่ได้ยื่นใบสมัครไว้ สอศ.จึงได้จัดสนามสอบเป็นรายจังหวัด รวมทั้งสิ้น 76 แห่ง โดยให้ผู้สมัครสามารถเลือกจังหวัดที่ประสงค์จะเข้าสอบได้ด้วยตนเอง และมีผู้บริหารระดับสูงของสอศ.จากส่วนกลาง เข้าตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยของสนามสอบในทุกภูมิภาค อีกทั้ง สอศ. ยังได้จัดห้องสำรองสำหรับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อฯ หรือผู้ที่เพิ่งหายป่วย และห้องพิเศษสำหรับผู้ที่ตรวจ ATK ผลเป็นบวก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิ์สอบสามารถเข้าสอบได้ ทั้งนี้ผู้เข้าสอบทุกรายจะต้องนำใบรับรองหรือเอกสารหลักฐานผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ก่อนการสอบ ในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง (ระหว่างวันที่ 28 ม.ค.65 จนถึงวันสอบ) โดยการตรวจแบบ RT-PCR หรือการตรวจแบบ ATK (Antigen Test Kit) จากสถานพยาบาลมาแสดงเพื่อเข้ารับการสอบแข่งขัน และก่อนเข้าสนามสอบจะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอีกด้วย ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การสอบครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิ์สอบทั้งสิ้น จำนวน 51,417 คน 75 กลุ่มวิชา ซึ่งมีจำนวนคนเข้าสอบทั้งสิ้น 43,453 คน คิดเป็นผู้เข้าสอบร้อยละ 84.51 ผู้ไม่มาสอบ 7,964 คน คิดเป็นร้อยละ 15.49 โดยมีตำแหน่งรองรับถึง 483 อัตรา สำหรับการสอบในช่วงเช้า เป็นการสอบภาค ก. ความรู้ความสามารถทั่วไป ได้แก่ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ทักษะภาษาอังกฤษ ความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี และช่วงบ่าย เป็นการสอบภาค ข. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ได้แก่ มาตรฐานความรู้ทั่วไปในการจัดการเรียนการสอน ความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีการตรวจผู้เข้าสอบอย่างเข้มงวด ทั้งการแต่งกาย สิ่งที่ต้องเตรียมไปในวันสอบคัดเลือก สิ่งที่ห้ามนำเข้าห้องสอบ การรับฝากของ ข้อปฏิบัติก่อนเข้าห้องสอบ ข้อปฏิบัติในเวลาสอบ โดยห้ามนำตำรา เอกสาร กระดาษ หรือสิ่งพิมพ์ใดๆ กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ นาฬิกาทุกชนิด โทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องคำนวณ อุปกรณ์ที่ใช้คำนวณได้ เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมถึงวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ เข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สอศ. ได้ปฏิบัติตามแนวทางของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เช่น การทำความสะอาดฆ่าเชื้อสนามสอบและพื้นที่ผิวสัมผัสต่างๆ ทั้งก่อน-ระหว่าง-และหลังจากการสอบ การจัดโต๊ะเก้าอี้ของผู้มีสิทธิ์สอบให้เว้นระยะห่าง การจัดจุดวัดอุณหภูมิของผู้เข้ารับการสอบในทุกทางเข้าอาคารสนามสอบ การจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การจัดเจ้าหน้าที่เพื่อแนะนำและอำนวยความสะดวกในทุกสนามสอบ ตลอดจนขอให้ผู้เข้าสอบและผู้เกี่ยวข้องทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในสถานที่สอบและปฏิบัติตามมาตรการป้องโรคส่วนบุคคล D-M-H-T-T-A (อยู่ห่างกันไว้ – ใส่แมสก์กัน – หมั่นล้างมือ – ตรวจวัดอุณหภูมิ – ตรวจเชื้อ – ใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ) ทั้งนี้ สอศ. จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ (ภาค ค.) รวมทั้งวัน เวลา สถานที่สอบคัดเลือก ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ (ภาค ค.) โดยจะประกาศให้ทราบภายในวันจันทร์ที่ 21 ก.พ.65 ทางเว็บไซต์ ipa.vec.go.th หรือเว็บไซต์ www.vec.go.th