ในขณะที่โลกยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับ "โรคอุบัติใหม่" ที่ท้าทายวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนบนโลกให้ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการดำรงอยู่ต่อไป "สารมลพิษอุบัติใหม่" ก็ยังคงเป็นปัญหาที่คอยทำร้ายมนุษย์ และทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งระบบของโลก รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา บุญตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ให้เห็นถึงอุบัติการณ์สารมลพิษอุบัติใหม่ว่าส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวงจรสิ่งแวดล้อมของโลกทั้งระบบ โดยเริ่มจากการที่มนุษย์บริโภคและอุปโภคสารมลพิษอุบัติใหม่ที่ตกค้างในอาหารและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำ และวนกลับมาที่มนุษย์ เมื่อมีการนำน้ำที่มีสารมลพิษอุบัติใหม่ตกค้างนั้น กลับมาสู่ระบบสาธารณูปโภครวมถึงการส่งต่อจากการที่มนุษย์นำสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารมลพิษอุบัติใหม่นั้นมาบริโภค ไม่ว่าจะเป็นสารกันติดที่ใช้เคลือบกระทะ พลาสติกเคลือบภาชนะกระดาษบรรจุอาหาร หรือการนำเข้าสัตว์น้ำจากแหล่งผลิตที่ปนเปื้อน ล้วนเป็นสารมลพิษอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสุขภาวะของมนุษย์ รวมทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ในขณะที่สังคมไทยยังไม่มีความใส่ใจกันเท่าที่ควร โดยจากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยนิคมอุตสาหกรรมหลักๆ ภายในประเทศไทยกว่า10 แห่งที่ผ่านมา โดยทีมวิจัยนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา บุญตานนท์ ยังคงพบการปนเปื้อนของสารมลพิษอุบัติใหม่ในเปอร์เซ็นต์สูงแทบทั้งสิ้น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา บุญตานนท์ มองว่าปัญหาการปนเปื้อนของสารมลพิษอุบัติใหม่เป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกทั้งระบบ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือแบบบูรณาการจากทุกฝ่าย ลำพังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้เกิดจิตสำนึกใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นจากแรงบันดาลใจให้เห็นประโยชน์ร่วมกัน จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันเพื่อโลกใบนี้ได้อย่างเต็มที่ ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ