จากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลระยอง ส่งผลให้เกิดคราบน้ำมันกระจายตัวเป็นวงกว้างในบริเวณต่างๆ มุ่งสู่ชายฝั่งหาดบ้านเพและหมู่เกาะเสม็ด ซึ่งเป็นแหล่งปะการังน้ำตื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของปะการัง ซึ่งต้องจับตาดูความหนาแน่นและการกระจายตัวของคราบน้ำมันจะกินวงกว้างลุกลามถึงแนวปะการังสำคัญบริเวณอ่าวพร้าว อ่าวลูกโยน อ่าวลุงดำ และอ่าวกิ่วของหมู่เกาะเสม็ดว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลรุนแรงมากน้อยเพียงใด ในการนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำและภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ได้ส่งคณะนักวิจัยลงพื้นที่จุดเกิดเหตุกลางทะเลและชายฝั่งอุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เพื่อสำรวจผลกระทบของคราบน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ในฐานะทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งลงพื้นที่ไปกับคณะสำรวจในครั้งนี้เปิดเผยว่า เหตุท่อส่งน้ำมันรั่วในทะเลอ่าวไทยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณกว้างกว่าเมื่อครั้งท่อส่งน้ำมัน ใต้ทะเลรั่วครั้งใหญ่ในอ่าวไทยเมื่อปี 2556 นอกจากพื้นที่ชายหาดที่ได้รับผลกระทบแล้ว สิ่งที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่งคือมลพิษต่างๆ มีผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการังและหญ้าทะเล คราบน้ำมันทำให้แสงไม่สามารถส่องลงไปใต้น้ำได้เหมือนเดิม ออกซิเจนที่ลดลงส่งผลต่อสัตว์น้ำและพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการังไม่สามารถสังเคราะห์แสง ซึ่งทำให้เกิดปะการังฟอกขาวได้ ศ.ดร.สุชนา กล่าวเพิ่มเติมว่า คราบน้ำมันและสารที่ขจัดน้ำมันมีผลทำให้ไข่และสเปิร์มของปะการังมีลักษณะผิดปกติไป อาจทำให้ปะการังกลายพันธุ์ หรือไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “หมันปะการังฉับพลัน” ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากเนื่องจากปะการังมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ หากเกิดปรากฏการณ์ “หมันปะการังฉับพลัน” มีโอกาสทำให้ปะการังสูญพันธุ์ได้ “ปกติปะการังจะปล่อยไข่ปีละครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ต้นเดือนเมษายน มลพิษในทะเลอาจส่งผลทำให้ปะการังไม่ปล่อยไข่ออกมา เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจมองเห็นภายนอกว่าปะการังกลับมาเหมือนเดิมแล้ว แต่มลพิษยังส่งผลระยะยาวต่อเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 2 – 3 ปีจึงจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมา นอกจากนี้เมื่อเกิดมลพิษในทะเล โอกาสที่จะกำจัดมลพิษให้หมดเป็นไปได้ ยากมาก การเพาะพันธุ์ปะการังขึ้นมาใหม่จากไข่และสเปิร์มกว่าจะเติบโตเป็นปะการังที่สมบูรณ์ได้ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นโอกาสที่เราควรนำมาถอดบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุท่อน้ำมันรั่วไหลในทะเลขึ้นอีกในอนาคต” ศ.ดร.สุชนากล่าวทิ้งท้าย