จังหวัดนครราชสีมา (โคราช) ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ขนาดใหญ่ พร้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย โดยในปี 2563 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า จังหวัดนครราชสีมา มีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวกว่า 12,675 ล้านบาท เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย กว่า 12,434 ล้านบาท ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะเป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่ก็ยังสามารถสร้างรายได้และมูลค่าจากการท่องเที่ยวพอสมควร โดยเฉพาะในตัวอำเภอเมือง ที่มีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นสัญลักษณ์สำคัญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การุณย์ ศุภมิตรโยธิน อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ริเริ่ม "โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาย่านการค้าเมืองเก่านครราชสีมา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์" ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การุณย์เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า ความที่ตนเองเป็นโคราชตั้งแต่กำเนิด ได้มองเห็นถึงสภาพของเมืองเก่าที่เคยเป็นย่านธุรกิจของจังหวัด มีตลาดหลายแห่ง มีร้านค้าภายในชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน มีงานสถาปัตยกรรมและสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนหลายกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นพื้นที่ทางพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เช่น ย่านจอมพล ที่มีคนไทยเชื้อสายจีน มีผู้นับถือศาสนาซิกข์ ทำให้มีศาสนสถานทั้งศาลเจ้าจีน วัดซิกข์ และวัดไทยอยู่ด้วยกัน จากสภาพการณ์ในปัจจุบันพบว่า เมืองเก่าถูกลดความสำคัญลงไป มีห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นมา ประกอบกับไม่มีที่จอดรถ ทำให้คนในพื้นที่บางส่วนต้องประกาศขายร้าน ย้ายถิ่นฐาน แต่ขณะเดียวกันยังมีบางส่วนที่ยังคงเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าแห่งนี้ จึงได้เริ่มต้นการฟื้นฟูด้วยการจัดงานถนนคนเดินเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในย่านนี้มากขึ้น จึงได้เป็นที่มาของการเริ่มต้นโครงการนี้ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพ สภาพแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม รูปแบบสถาปัตยกรรม และองค์ประกอบภายในย่านการค้าเมืองเก่านครราชสีมา จากนั้นวิเคราะห์ปัญหา ศักยภาพ และแนวโน้มการพัฒนา พร้อมทั้งเสนอแนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การุณย์ เล่าถึงการทำงานโครงการนี้ว่า เริ่มจากการสำรวจข้อมูลทุกมิติ ทั้งกายภาพ สังคมวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ไปจนถึงสถาปัตยกรรม จากนั้นได้รวบรวมข้อมูล เริ่มต้นสำรวจรังวัดอาคารที่เป็นมรดกวัฒนธรรมในย่านดังกล่าว เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และเสนอไปยังคณะกรรมการถนนจอมพล ถนนประวัติศาสตร์ ที่มีการจัดงานถนนคนเดินช่วงตรุษจีนทุกปี โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หอการค้า ผู้ประกอบการ ให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่ ด้วยการเปรียบเทียบพื้นที่อื่นที่พัฒนาย่านเมืองเก่าทางประวัติศาสตร์ เช่น จังหวัดภูเก็ต สงขลา หรือในสิงคโปร์ จนมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ขึ้น จากนั้นได้เริ่มต้นทำแบบสถาปัตยกรรม ทั้งสองมิติและสามมิติจากการรังวัด ขึ้นมาทำในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง มีแอปพลิเคชันนำเที่ยว ตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ไปจนถึงสี่แยกสวนหมาก โดยแยกเป็นหมวดการท่องเที่ยว 5 เส้นทางหลักคือ 1.เส้นทางการเรียนรู้โคราช 2.ไหว้พระ 9 วัดที่อยู่ในเขตเมืองเก่าและนอกเมืองเก่า 3.สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ 4.รวบรวมแห่งร้านอาหารที่อยู่ในย่านเมืองเก่า 5.ตึกเก่าเล่าเรื่อง ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของโครงการ ชูจุดขายที่เป็นตึกสมัยเก่าที่มีมานาน เช่น ศูนย์ขายรถยนต์แห่งแรกของจังหวัด ตึกโรงเต้าเจี้ยว หรือโรงผลิตน้ำมะเน็ด ซึ่งตึกแต่ละแห่งก็มีเรื่องราวรวมถึงความเฉพาะของสถาปัตยกรรมที่ต่างกันออกไป และมีเรื่องราวที่ชวนน่าติดตาม หากนักท่องเที่ยวได้นำแอปพลิเคชันมาใช้ก็จะทำให้เข้าใจถึงความเป็นมาของแต่ละสถานที่ได้ดียิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดูข้อมูลภาพเก่าและสถาปัตยกรรมของตึกแต่ละแห่งได้ทันที ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การุณย์ ระบุว่า หลังจากเริ่มต้นทำโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ทุกคนเห็นด้วยกับการเดินหน้าโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 และอยากให้หน่วยงานราชการในพื้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูย่านเมืองเก่า ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของเมืองเช่นกัน “สะท้อนได้ว่าโครงการนี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการอนุรักษ์พื้นที่ย่านประวัติศาสตร์ของจังหวัด หลายคนเมื่อรับทราบข้อมูลว่าตึกที่ตนเองอาศัยอยู่มีคุณค่ามากเพียงใด ก็เกิดความหวงแหนมากขึ้น ต้องการอนุรักษ์ไว้ทั้งสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และสามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากการท่องเที่ยวได้มากขึ้นอีกด้วย แม้ในช่วงนี้จะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถท่องเที่ยวได้เต็มที่เท่าช่วงปกติ แต่ก็ยังสามารถดูข้อมูลได้จากแอปพลิเคชัน "Korat Architecture" สามารถดาวน์โหลดผ่านระบบ Google Play Store ได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การุณย์ กล่าวทิ้งท้าย