ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมๆ กับความคาดหวังที่จะเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชยา เชื้อจันทึก อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ได้เริ่มต้นการวิจัยในโครงการ "การพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของเมืองนครราชสีมา ภายใต้การกำหนดนโยบาย การสื่อสาร และการศึกษา เพื่อความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน" ขึ้น โดยโดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชยา กล่าวถึงที่มางานวิจัยชิ้นนี้ว่า มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้เจาะลึกลงยังมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งได้ทำงานวิจัยย่อยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ การกำหนดนโยบาย การสื่อสาร และการศึกษา ซึ่งได้ทำการวิจัยในช่วงเดือนมีนาคมปี 2563 จนถึงเดือนมิถุนายนปี 2564 กระบวนการทำงานเริ่มต้นจากการประชุมทีมนักวิจัย จากนั้นลงพื้นที่บริเวณเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยหนาแน่นที่สุด โดยเริ่มการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ควบคู่กันไป เพื่อดูว่าเมื่อได้รับนโยบายจากระดับชาติลงมาแล้ว เจ้าหน้าที่ภาครัฐได้มีการปฏิบัติตามอย่างไร มีผลอย่างไร ประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งเก็บข้อมูลจากบุคคลที่นำนโยบายไปปฏิบัติตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชนและครัวเรือน จากนั้นได้เริ่มจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกับตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสะท้อน ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยว่า แต่ละฝ่ายได้นำนโยบายไปปฏิบัติอย่างไร และจัดทำเป็นแนวทางที่เหมาะสม สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความน่าเชื่อถือสำหรับภาครัฐต่อไป ทั้งนี้ ในงานวิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะเชิงวิชาการประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพระบบการเตรียมความพร้อม การเสริมสร้างศักยภาพการรับมือของทุกภาคส่วน การเสริมสร้างความร่วมมือการเตรียมพร้อมรับมือและการบริหารจัดการแบบูรณาการ ที่สอดคล้องกับแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติปี 2560-2564 ขณะเดียวกันการสื่อสารไปยังประชาชนจากผู้นำชุมชนผ่านเสียงตามสายหรือหอกระจายข่าว จะมีความใกล้ชิดกับประชาชนและให้ความเชื่อถือมากกว่า ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับสื่อบุคคลมากขึ้น เพราะถือว่ามีอิทธิพลต่อประชาชนในช่วงที่มีการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ขณะเดียวกันการสื่อสารสาธารณะ ภาครัฐยังคงมีความเป็นห่วงต่อการใช้ชีวิตปกติใหม่หรือนิวนอร์มอลที่อาจจะมีการ์ดตก หรือละเลยป้องกันบางอย่างไป ดังนั้น การทำให้ประชาชนได้รู้เท่าทันสื่อให้ตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่า จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ควรเพิ่มความสำคัญให้มากกว่านี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชยา กล่าวด้วยว่า ในงานวิจัยชิ้นนี้ ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายคือ "ภาครัฐควรพัฒนาช่องทางประชาสัมพันธ์" ทั้งเรื่องของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียหรือการถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ที่ไม่ควรเป็นการบรรยายในชุมชน นอกจากนี้ ควรเผยแพร่หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินเพื่อความสะดวกรวดเร็ว จัดตั้งหน่วยติดต่อสอบถามเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาสอบถามข้อมูลได้ ต่อมาคือ "การจัดทำคู่มือการประสานงานแนวทางปฏิบัติ" ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติ เช่น อปท. หรือ รพ.สต. พร้อมจัดทำคู่มือประสานงานเมื่อเผชิญเหตุจาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับการจัดทำคู่มือให้กับชุมชน ขณะเดียวกัน ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่เกิดระบาด การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการรับมือกับโรคระบาด รวมไปถึงการให้ความรู้แก่อาสาสมัครทางสาธารณสุขเพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังด้วย "การสนับสนุนด้านการศึกษา" ทำคู่มือให้กับโรงเรียน ชี้แจงสถาบันการศึกษาให้ทราบถึงการเฝ้าระวังและทำความสะอาด จากนั้นสร้างฐานข้อมูลเพื่อให้การเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานในระดับพื้นที่ เช่น อปท. หรือ รพ.สต. และชุมชน ซึ่งหากมีการรวบรวมข้อมูลไว้ในที่เดียว ก็จะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้มากขึ้น และ "การสนับสนุนระบบการสื่อสาร" ที่ควรจะมีช่องทางให้ประชาชนได้ติดต่อเพื่อคลายความกังวลที่เกิดขึ้น ผ่านสื่อต่างๆ มีการสื่อสารออกมาข้อมูลชุดเดียวและช่องเดียว มีเวลาที่แน่นอนในการให้ข้อมูลออกมา "ส่วนตัวอยากถอดบทเรียนท้องถิ่นที่ยังคงมีอุปสรรคในการบริหารจัดการท่ามกลางสภาวะโรคระบาด เพื่อดูว่ามีปัญหาด้านใดเกิดขึ้น พร้อมหาช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะลดผลกระทบและสามารถช่วยเหลือประชาชน พร้อมๆ กับการพัฒนา รพ.สต. และ อสม. ไปพร้อมกัน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชยา กล่าวทิ้งท้าย