ประเทศไทยมีการส่งออกปลากัดไปยังตลาดต่างประเทศนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ของปลาสวยงาม ซึ่งจากข้อมูลของด่านตรวจสัตว์น้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในระหว่างปี พ.ศ.2559 – 2563 มีการส่งออกปลากัดประมาณ 18 ล้านตัวต่อปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 116 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตลาดที่รองรับปลากัดสวยงามมีอยู่ทุกทวีป แต่ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ตลาดอเมริกา รองลงมาคือยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย โดยปลากัดที่ตลาดต้องการส่วนใหญ่จะเป็นปลากัดหางยาวประเภทพระจันทร์ครี่งดวง (Halfmoon) นายถาวร ทิพวรรณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากัดฮาฟมูนของวษท.สุพรรณบุรี ได้รับการจดทะเบียนเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อการจำหน่าย โดยได้รับรางวัลชนะเลิศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในโครงการเกษตรเพื่อชีวิต “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน” ประจำปี 2564 ด้านการปฏิบัติการทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มสัตว์น้ำจืดสวยงาม (มกษ.7426 - 2555 )ที่เพาะเลี้ยงปลากัดได้คุณภาพตามหลักเกณฑ์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากัดฮาฟมูน เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาที่ดำเนินการโดยชมรมวิชาชีพประมง แบ่งหน้าที่ในการบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ ได้แก่ นักศึกษาชั้นปวส.2 ผลิตอาหารสัตว์น้ำ (ไรแดง) ปวส.1 ผลิตไรน้ำนางฟ้า ปวช.3 เพาะพันธุ์ปลากัดฮาฟมูนจำหน่ายพร้อมเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และปวช.2 ดูแลเรื่องการจัดการฟาร์มและสิ่งแวดล้อมบริเวณฟาร์มปลากัดฮาฟมูน ดร.เอื้ออารี สุขสมนิตย์ ครูแผนกวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) สุพรรณบุรีกล่าวว่า ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย พบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง หรือชายทุ่งนา ผสมพันธุ์ได้เกือบตลอดปี อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสม 26 – 28 องศาเซลเซียส เป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ ทำให้ปลาอาศัยอยู่ในที่มีออกซิเจนต่ำได้ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 วษท.สุพรรณบุรี ได้ร่วมมือกับฟาร์มลุงหนูปลากัด จังหวัดนครปฐม คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลากัดพระจันทร์ครึ่งดวงที่มีอายุตั้งแต่ 4 -6 เดือนและมีลักษณะเด่น โดยจะเลือกปลาเพศผู้ของวษท.สุพรรณบุรีที่แข็งแรง ปราดเปรียว ชอบก่อหวอด และปลาเพศเมียจากฟาร์มลุงหนูปลากัดที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราดเปรียว ท้องอูมเป่ง ใต้ท้องมีตุ่มสีขาวใกล้รูก้น เรียกว่า ไข่นำ นำมาผสมพันธุ์กัน เกิดเป็นปลากัดพระจันทร์ครึ่งดวงที่มีลักษณะเด่นคือสีของครีบและลำตัวสวยเด่นชัดและสีเข้ม ให้ชื่อใหม่เป็นเอกลักษณ์ว่า “หงส์สุพรรณ” โดยวิธีการเลี้ยงปลากัดสร้างอาชีพ เริ่มจากล้างทำความสะอาดและจัดเรียงขวดสำหรับเลี้ยงปลากัดโดยใช้เชือกฟางแบ่งเป็นช่วงๆ จากนั้นต้มใบหูกวาง 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ให้เย็น เติมน้ำสะอาดใส่น้ำต้มใบหูกวาง และปล่อยปลากัดอายุประมาณ 60 วัน ลงเลี้ยงขวดละ 1 ตัว ให้อาหารปลากัดด้วยไรแดง หรือไรน้ำนางฟ้า วันละ 1 ครั้ง ถ่ายน้ำปลากัด 3 วันต่อครั้ง เมื่อให้อาหารหรือถ่ายน้ำปลาเรียบร้อยแล้วให้ปิดด้วยผ้ามุ้งไนลอน สุดท้ายคัดเลือกปลากัดที่เลี้ยงในขวดอายุ 45 วัน ใส่ตะกร้าเพื่อเตรียมจำหน่าย ฟาร์มปลากัดของวษท.สุพรรณบุรีเป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากกรมประมง โดยที่ผ่านมาได้จำหน่ายปลากัดพระจันทร์ครึ่งดวงให้แก่ฟาร์มลุงหนูปลากัด จังหวัดนครปฐม ซึ่งจะเป็นผู้นำภาชนะมาใส่ปลากัดเอง และจำหน่ายปลาส่งออกยังต่างประเทศ ราคาขายส่งเริ่มต้นที่ตัวละ 8 บาท และราคาขายปลีกทางออนไลน์ เริ่มต้นที่ตัวละ 100 บาท ทั้งนี้ หากสนใจสามารถเข้าชมธุรกิจฟาร์มปลากัดส่งออก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรีได้ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.) ครั้งที่ 42 “เกษตรชายแดนแฟร์ 64” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 27 กุมภาพันธ์ 2565 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว หรือ ติดต่อได้ที่โทร.093-143-9789 หรือ Line ID 086-325-2126