จากเหตุการณ์เมื่อช่วงปลายตุลาคม พ.ศ. 2548 กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานถึงสภาพอากาศว่ามีร่องความกดอากาศต่ำในทะเลอันดามันมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกชุกและหนักในบางพื้นที่ ต่อมาเกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชุมพรในเขต 3 อำเภอ คือ อ.เมืองชุมพร อ.ท่าแซะ และ อ.ปะทิว เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองชุมพรซึ่งเป็นย่านธุรกิจแม่น้ำท่าตะเภาเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ท่วมในตัวเมืองชุมพร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยในสถานการณ์และกังวลถึงความเสียหายหากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2540 โดยให้ขุดคลองหัววัง – พนังตัก เพื่อลดผลกระทบในอนาคต และพระราชทานทุนทรัพย์จากมูลนิธิชัยพัฒนาจำนวน 18 ล้านบาท และจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้กรมชลประทานยืมไปก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน 3 แห่ง และสามารถระบายน้ำได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนพายุลินดาจะเข้าเพียง 1 วัน ส่งผลให้จังหวัดชุมพรรอดพ้นจากอุทกภัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่เพื่อเก็บน้ำใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง และจัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2 และ 3 เพื่อสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตัก ลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก และศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา เพื่อใช้แก้ไขปัญหาอุทกภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการยังผลเอื้อประโยชน์แก่พื้นที่ทั้งด้านปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการสร้างอาชีพนอกภาคเกษตรซึ่งนำมาซึ่งรายได้ในการเลี้ยงดูครอบครัวต่อไป ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการฯ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายให้คณะกรรมการฯ ติดตาม เร่งรัด และขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎร พบว่าโครงการมีการดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมาย ด้าน นายภิทูณ พลชนา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร เผยว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เกิด และได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านมาร่วม 15 ปี อดีตประชาชนในพื้นที่ประสบกับความเดือดร้อนเรื่องน้ำท่วมน้ำหลากเป็นประจำทุกปีเนื่องจากพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง และเมื่อปี พ.ศ. 2532 ได้เกิดพายุเกย์ แล้วพายุซีต้า ตามมาด้วยพายุลินดา ทำให้พื้นที่ประสบปัญหามาก จนไม่สามารถใช้ประโยชน์ทำเกษตรได้โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ “หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามาแก้ไขปัญหา มีการขุดลอกคูคลองเป็นทางระบายน้ำลงสู่ทะเล ทำเป็นโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ ประชาชนในพื้นที่ก็สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน เพราะน้ำไม่ท่วม และมีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ปลูกพืชได้มากขึ้นและทั้งปี ตอนนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีกับราษฎรในพื้นที่ และดีใจที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้สืบสานโครงการต่อ และให้ท่านองคมนตรีเดินทางมาติดตามงานในพื้นที่ ก็จะมีการปรับปรุงให้โครงการฯ ทำงานได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่” นายภิทูณ พลชนา กล่าว ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ได้ร่วมประสานการดำเนินงานในการต่อยอดขยายผลเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ ในการเอื้อประโยชน์แก่ราษฎรในพื้นที่ให้มากขึ้น อาทิ ขุดคลองระบายน้ำต่างๆ (คลองผันน้ำคลองชุมพร) ปรับปรุงขุดคลองระบายน้ำสายหลัก และก่อสร้างประตูระบายน้ำหาดแตง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ระบายน้ำในช่วงฤดูฝน และช่วยพื้นที่เกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป