ในปี พ.ศ. 2494 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว และพบว่าลำน้ำปิงบริเวณหุบเขาย่านรีหรือยันฮี อ.สามเงา จ.ตาก มีความเหมาะสมจึงนำมาสู่การสร้าง “เขื่อนยันฮี” ขึ้นในปี พ.ศ. 2496 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปรมาภิไธย ชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล” และในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประกอบพิธีเปิดเขื่อนและทรงกดปุ่มขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1 เข้าระบบ นับตั้งแต่วันนั้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลได้ผลิตไฟฟ้าให้คนไทยใช้ตลอดมา อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเขื่อนย่อมกระทบต่อพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรส่วนหนึ่ง ซึ่งราษฎรส่วนนี้จึงเป็นผู้เสียสละประโยชน์ของตนด้วยการอพยพจากพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินเดิมไปยังที่แห่งใหม่ที่ทางการได้จัดให้ อีกส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากลำน้ำท้ายเขื่อนที่เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎร โดยติดตามและตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคลองไม้แดงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สามเงา จ.ตาก ซึ่งตั้งอยู่ใต้เขื่อนภูมิพลฝั่งซ้ายแม่น้ำปิง และโครงการปรับปรุงโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำหน่วยสูบน้ำที่ 10 อ.สามเงา จ.ตาก ตั้งอยู่ใต้เขื่อนภูมิพลฝั่งขวาลำน้ำปิง การนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้กล่าวกับราษฎรว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับโครงการทั้ง 2 นี้ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทรงนึกถึงราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินใต้เขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมไม่เช่นนั้น เขื่อนภูมิพลก็จะสร้างไม่ได้ อ่างเก็บน้ำก็จะไม่มี ไฟฟ้าก็จะไม่เพียงพอ “ฉะนั้นจะต้องดูแลราษฎรส่วนนี้ให้ดี และผู้ที่อยู่ริมแม่น้ำปิงเดิมสายน้ำอาจจะเปลี่ยนไป จึงพระราชทานพระราชดำริให้สูบน้ำด้วยไฟฟ้าปล่อยน้ำตามลำรางไปยังเหมืองฝายเดิม มาวันนี้ทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จ สามารถช่วยเหลือราษฎรทั้ง 2 พื้นที่ได้ตามพระราชประสงค์” องคมนตรีกล่าว ด้าน นายทิน จันทะบุรี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านท่าไผ่ ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก เผยว่า อ่างเก็บน้ำห้วยคลองไม้แดงฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2559 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 และตั้งแต่ที่ทุกคนรับทราบว่าพระองค์ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างก็ดีใจ “ดีใจว่าความฝันของปู่ย่าตายายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว ทุกคนยกมือท่วมหัว ถ้าไม่ได้พระองค์อ่างเก็บน้ำตอนนี้คงยังไม่เกิด จะช่วยกันดูแลและตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำและกำหนดระเบียบการใช้น้ำเพื่อให้ทุกครัวเรือน ได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง” นายทิน จันทะบุรี กล่าว ส่วน นางสมใจ วังสินธร ราษฎร ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก กล่าวว่า เมื่อก่อนจะใช้น้ำจากฝนที่ตกลงมา หากฝนไม่ตกก็แห้งแล้ง ฝนตกมากน้ำก็ท่วมหลาก เช่นเมื่อปี 2552 – 2553 ฝนตกมากน้ำท่วมพืชผลเสียหายกระทบทุกครัวเรือน “รู้สึกตื้นตันถึงพระกรุณาของพระองค์ที่รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานโครงการต่อจนแล้วเสร็จ ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ช่วยให้ชาวบ้านที่นี่ได้อยู่ดีกินดี เมื่อมีน้ำทุกอย่างก็จะดีขึ้น” นางสมใจ วังสินธร กล่าว ส่วน นายจิระโรจน์ จอกทอง ทำหน้าที่ฝ่ายเลขากลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการปรับปรุงโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำหน่วยสูบน้ำที่ 10 อ.สามเงา จ.ตาก ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำใต้เขื่อนฯ ฝั่งขวาลุ่มน้ำปิง กล่าวว่า ราษฎรต่างขอบพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานโครงการฯ ทำให้มีน้ำใช้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเพาะปลูก “อดีตมีปัญหาพืชเกษตรเสียหายเพราะน้ำขาดช่วง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกลำไยได้ผลผลิตไม่ดี ขายไม่ได้ราคา ต่อจากนี้ก็คงจะดีขึ้น และจะช่วยกันบริหารน้ำอย่างเป็นธรรมให้กับราษฎรทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน” นายจิระโรจน์ จอกทอง กล่าว สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยคลองไม้แดงพร้อมระบบส่งน้ำ นั้นมีความจุ 1,026,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบท่อส่งน้ำ PVC แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ทำให้ราษฎรบ้านท่าไผ่ หมู่ที่ 3 ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา 285 ครัวเรือน มีน้ำอุปโภคบริโภคและช่วยพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน 2,500 ไร่ และช่วงฤดูแล้ง 400 ไร่ส่วนโครงการปรับปรุงโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ป็นการปรับระดับหัวกะโหลกสูบน้ำให้ลึกพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำขึ้นคลองส่งน้ำ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ทำให้ราษฎรบ้านป่ายางใต้ หมู่ที่ 1 ต.สามเงา อ.สามเงา 869 ครัวเรือน พื้นที่ 2,000 ไร่ มีน้ำอุปโภคบริโภค และประกอบอาชีพได้ตลอดทั้งปี