ทีมนักศึกษาและอาจารย์ วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับ 3 รางวัลจากการประกวด I-New Gen Inventors Award 2021 - 2022 ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายกิติพงษ์ ปาสาณพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ตนได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold) ในกลุ่มพลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ ในชื่อผลงานหมึกพิมพ์ชีวภาพจากเจลาตินปลาสำหรับเครื่องพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ เพื่อการใช้งานในทางวิศวกรรมเนื้อเยื่อ โดยการนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งก็คือเกล็ดปลา เนื่องจากในหนึ่งปีจะมีปริมาณเกล็ดปลาที่ถูกทิ้งราวๆ 50 ล้านตัน เราจึงเล็งเห็นที่จะนำวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปผลิตเป็นเจลาตินเกล็ดปลา โดยนำตัวเจลาตินจากเกล็ดปลา (Fish scale gelatin) มาดัดแปลงหมู่ฟังก์ชั่นทางเคมีด้วย เมทาคริลิก แอนไฮไดรด์ (MA) เพื่อสร้างเป็นหมึกพิมพ์ชีวภาพเจลาตินเมทาไครโลอิลที่ใช้สำหรับงานทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ จากนั้นนำวัสดุไปทดสอบคุณสมบัติต่างๆ เช่น การทดสอบความเข้ากันได้กับเซลล์เคราติโนไซต์ พบว่า เซลล์มีชีวิตรอดและการแบ่งตัวภายในตัววัสดุโครงเลี้ยงเซลล์ (Scaffold) จากนั้นก็นำไปทดสอบในหนูทดลองเพื่อทดสอบการฟื้นฟูของบาดแผลที่บริเวณผิวหนังของหนู ผลที่ได้พบว่ามีส่วนในการช่วยเหนี่ยวนำการสร้างหลอดเลือดใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูของบาดแผล และในอนาคตอาจจะสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการหายของบาดแผลให้สั้นลง อีกทั้งยังถูกหลักศาสนบัญญัติฮาลซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกศาสนาเนื่องจากสารตั้งต้นมาจากเกล็ดปลา “สำหรับเหตุผลที่คิดว่าได้รับรางวัลในครั้งนี้คือ ผลงานชิ้นนี้มีอิมแพคสูงและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้จำนวนมาก และสามารถลดต้นทุนได้หลายเท่า ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับคณะและมหาวิทยาลัย” นายกิติพงษ์ กล่าว ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล ถนัดช่างแสง ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางแล็บของเราได้พัฒนาหลักการทางด้านการผลิตโฮโดรเจลจากเจลาตินปลา ซึ่งงานนี้สามารถนำไฮโดรเจลไปประยุกต์ใช้ด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อคือ สามารถนำไปเป็นหมึกพิมพ์ชีวภาพ และสามารถเอาไปใช้ได้ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นของสัตว์ทดลอง ซึ่งในปีนี้จะนำไปใช้กับผิวหนังเทียมสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเราได้ทุนร่วมกับภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการพัฒนาหมึกพิมพ์ชีวภาพไฮโดรเจลนี้ ซึ่งจะใช้เป็นหนังเทียมในการปลูกถ่ายหนังเทียม สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานที่เป็นแผลกดทับ หรือแผลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ตัวผิวหนังเทียมที่เป็นไฮโดรเจลสามารถที่จะผสมกับโปรตีนที่เป็นโกรทแฟคเตอร์ทำให้เกิดการซ่อมแซมผิวหนังได้เร็วมากขึ้นหรือผสมกับเซลล์ผิวหนัง สามารถที่จะปลูกถ่ายได้ดีมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรางวัลเหรียญเงิน (Silver) อีก 2 รางวัล ในกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ได้แก่ 1. แก้ววัดความหวานในเครื่องดื่นแบบพกพา และ 2. เกมส์ต้นแบบ Brain Computer Interface (BCI) Drift เพื่อฝึกความตั้งใจ นางสาวปภาวี ชาวนาดอน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงแนวคิดผลงานแก้ววัดความหวานในเครื่องดื่มแบบพกพาว่า มีความคิดมาจากพวกเราที่ชอบดื่มชานมในชีวิตประจำวัน แล้วต้องการที่จะลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม จึงได้จัดทำแก้ววัดความหวานนี้ขึ้นมาซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลในแต่ละวันได้ ด้าน นางสาวศุภรดา ไชยบัวแก้ว กล่าวว่า แก้ววัดความหวานในเครื่องแบบพกพา ประกอบด้วยตัวแก้ว และฝาปิดครอบด้านบนของตัวแก้วภายในฝาปิดมีวงจรไฟฟ้าบรรจุอยู่ประกอบด้วย แบตเตอรี่แบบชาร์ตได้ ไมโครคอลโทรลเลอร์ (Microcontroller) ใช้เป็นวงจรกำเนิดความถี่สูงและวงจรประมวลผลสัญญาณภายในตัวเดียวกัน และวงจรแสดงผลสัญญาณ โดยเมื่อจุ่มแท่งวัดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ไมโครคอนโทรเลอร์จะทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นความถี่สูงส่งไปที่แท่งวัดปริมาณน้ำตาล ซึ่งทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรดตรวจวัดปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่ม โดยปริมาณน้ำตาลที่เปลี่ยนไปนี้จะถูกส่งไปยังไมโครคอนโทรเลอร์เพื่อประมวลผลสัญญาณ และส่งสัญญาณจากการประมวลผลนี้ไปยังวงจรแสดงผลสัญญาณ “จุดเด่นของแก้วคือ เป็นแก้วที่สามารถวัดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มได้ ซึ่งมีหลักการที่แตกต่างจากเครื่องวัดน้ำตาลที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป และมีการพัฒนาต่อยอดคือเราจะเปลี่ยนจากหลอดไฟ LED ไปเป็นหน้าจอ LCD ที่แสดงแถบสีเขียว เหลือง แดง บอกปริมาณน้ำตาลในแก้วนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาขึ้นไป ไฟก็จะขึ้นเป็นสีแดง วิธีใช้คือใส่เครื่องดื่มลงไปแล้วเปิดสวิชต์ ซึ่งสามารถใช้งานง่าย รู้สึกประทับใจที่ผลงานของเราเป็นแค่แนวความคิดแล้วนำมาพัฒนาจนทำให้สามารถออกมาเป็นแก้ววัดความหวานที่สามารถใช้งานได้จริงค่ะ” นางสาวณัฐธิญา หิมเวช หนึ่งในผู้ร่วมทีม กล่าวเสริม อีกหนึ่งผลงาน เกมต้นแบบ Brain Computer Interface (BCI) Drift เพื่อฝึกความตั้งใจ ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวทีเดียวกัน โดยนายพุฒิพงศ์ เหล่าบัณฑิตเจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โปรเจกต์เกมต้นแบบเป็นเกมที่ใช้ตัวของตัวอ่านคลื่นสมองใช้ร่วมกับการเล่นเกม เพื่อพัฒนาสมาธิของผู้เล่น โดยผู้เล่นใช้คีย์บอร์ดในการเล่นร่วมด้วย ดังนั้น คลื่นสมองที่วัดออกมาได้จะใช้การวัดค่าความตั้งใจระหว่างเล่น “เกมต้นแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นการรวมกันระหว่างเทคโนโลยีทางด้านมัลติมีเดีย และวิศวกรรมชีวการแพทย์ โดยอาศัย Brain Computer Interface เป็นตัวเชื่อม Brain Computer Interface (BCI) เป็นความสัมพันธ์ ในรูปแบบการสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งนําคลื่นสมองที่ไปประมวลผลทางคณิตศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อนําไปแสดงผลหรือควบคุมอุปกรณ์ตาม ความคิดของผู้ใช้งาน โดยในการพัฒนานี้ใช้ร่วมกับตัว Neurosky mindwave mobile 2 เป็นตัวเชื่อมโยง ระหว่างสมองและเกมที่ออกแบบไว้ นายณัฐดนัย ตันติเสรีพัฒนา กล่าวเพิ่มเติม ผลงานเหรียญทอง ผลงานเหรียญเงิน