มธ.ระดมอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด 19 ผ่านโครงการ ‘ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330’ เพิ่มคู่สายผ่านสายด่วนสปสช. ช่วยแก้ปัญหาโทรไม่ติด-สายไม่ว่าง โดยโทร.สายด่วน 1330 กด 14 เจ้าหน้าที่พร้อมรับเรื่อง ส่งต่อสปสช. TSE พร้อมส่งต่อ ช่วยให้สามารถดูแลผู้ติดเชื้อแบบไร้การสัมผัส เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ติดโควิดโดยตรง พร้อมเปิดรับอาสาสมัครร่วมโครงการ นายวัชระ อมศิริ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE กล่าวว่า "จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ที่ผ่านมามีประชาชนที่ตรวจหาเชื้อและพบว่าติดโควิด 19 มีการโทรเข้ามาไปยังสายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับประสานงานต่อไปยังโรงพยาบาล เพื่อรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนโทรเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือมากกว่า 40,000 สายต่อวัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทันถ่วงที เพราะมีสายเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประชาชนต้องรอสายนานจนเกินไป" ดังนั้น TSE จึงได้หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อระดมหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย TSE ได้ดำเนินโครงการ ‘ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330’ โดยเป็นการระดมอาสาสมัครจากกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่น อาสาสมัครกู้ชีพ นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ เพื่อเข้ามาช่วยรับสาย รับเรื่อง และส่งต่อเคสให้แก่ สปสช. แนวทางดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหากรณีโทรแล้วไม่ติด โทรแล้วสายไม่ว่าง รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาประชาชนได้รับความช่วยเหลือล่าช้า ทั้งนี้หากประชาชนที่ตรวจพบเชื้อโควิด 19 สามารถโทร 1330 กด 14 เพื่อต่อสายเข้ามาหาอาสาสมัคร TSE ได้ทันที นายวัชระ กล่าวต่อว่า "หน้าที่หลักของอาสาสมัครในโครงการ ‘ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330’ ผ่านสายด่วน 1330 กด 14 คือ การบริการข้อมูลสำหรับประชาชน และสามารถแจ้งผลตรวจ ATK เป็นบวก (ขึ้น 2 ขีด) หรือตรวจพบเชื้อโควิด 19 ข้อมูลทั้งหมดจะถูกประสานไปยัง สปสช. เพื่อดำเนินการจับคู่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ รวมทั้งสถานพยาบาลทั่วไป ภายใต้สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป ซึ่ง TSE เชื่อมั่นว่าการระดมอาสาสมัครในครั้งนี้ จะช่วยให้การบริการผ่านสายด่วน 1330 มีความรวดเร็ว และคลายความกังวลให้กับประชาชนได้" ส่วนรูปแบบการทำงานของทีมอาสาสมัครในโครงการ ‘ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330’ ผ่านสายด่วน 1330 กด 14 สามารถทำงานได้จากทุกพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องนั่งประจำอยู่กับที่ เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในพื้นที่ไม่อับสัญญาณ และคอมพิวเตอร์สำหรับรับข้อมูลเบื้องต้น เพื่อส่งข้อมูลต่อให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ประสานความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งขณะนี้มีอาสาสมัครในโครงการดังกล่าวที่พร้อมให้บริการประชาชนแล้วกว่า 370 คน โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากเครือข่ายผู้ใช้เครื่องส่งวิทยุสมัครเล่นและประขาชนทั่วไป ที่ผ่านการอบรมการรับเรื่องประสานงานและบริการข้อมูลจาก สปสช. มาแล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่มีความประสงค์ในการเป็นอาสาสมัครให้บริการข้อมูลในโครงการ ‘ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330’ ผ่านสายด่วน 1330 กด 14 ทาง TSE ได้เปิดช่องทางการแก่ผู้สนใจเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) สายด่วน 1330 ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์และติดตามรายละเอียดการรับสมัคร และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Line Open Chat : https://line.me/ti/g2/T_Xpc0IICiVjLTVHyjZaRotDjoJkkDZ7wHuQoA?utm_source=... ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยไม่จำกัดจำนวน และเปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังจากที่ได้สมัครแล้ว TSE จะนำหมายเลขโทรศัพท์ของอาสาสมัคร ไปลงทะเบียนกับระบบของกับ สปสช. เพื่อทำการเช็คอินเปิดระบบให้แก่อาสาสมัคร และจะได้รับคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน โดยเมื่อมีผู้ติดต่อผ่านสายด่วน 1330 กด 14 ระบบจะทำการโอนสายไปยังอาสาสมัครได้ทันที นายวัชระ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากโครงการ “ธรรมศาสตร์จิตอาสา รับสาย 1330” ขณะนี้ TSE ยังมี ‘หน่วยบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวคือรถโมบายเคลื่อนที่ ซึ่งภายในติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อการสื่อสาร ระบบการเชื่อมต่อไร้สาย และระบบเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่สามารถเข้าไปติดตั้งระบบให้แก่โรงพยาบาล หรือฮอสพิเทล (Hospitel) ได้ทันที โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะเน้นการทำงานแบบไร้การสัมผัส ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา การวินิจฉัย ลดความเหนื่อยล้าจากการสวมชุด PPE เป็นเวลานาน และช่วยให้ทีมแพทย์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ด้วยระบบการติดตามอาการได้ทันทีโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง" อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวเคยนำไปใช้ในช่วงที่เปิด โรงพยาบาลสนามศาสตร์ แต่ขณะนี้โรงพยาบาลสนามปิดไปแล้ว ดังนั้น TSE มีความพร้อมจะส่งต่อเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลที่มีความประสงค์ และยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว แก่หน่วยงานที่สนใจอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน TSE มีหลักสูตรด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวกับการวางระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมที่ทันสมัย ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-en) ในโครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (Programme of Innovative Engineering) หรือ TU-PINE ที่กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ในรอบที่ 2 โควตา ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้เลยตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT