สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง โดยปัจจุบันแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนของการจัดระบบเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 คือ หากเป็นผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จะเน้นที่การดูแลรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation เพื่อเพิ่มโอกาสรักษาให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และลดความแออัดในโรงพยาบาลอีกด้วย นายวรากร ศิริธัญเดช นักศึกษาชั้นปวช.3 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จังหวัดตาก เล่าว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 เป็นช่วงที่ผมออกฝึกงานในอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าระบาดหนักมาก ผมมีอาการคล้ายๆกับติดโควิด จึงขอหยุดพักฝึกงานกับสถานประกอบการ เพื่อเฝ้าดูอาการและรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ต่อมาสถานประกอบการก็ประสานกับโรงพยาบาลให้ผมเข้าไปตรวจหาเชื้อซึ่งผลตรวจออกมาเป็นบวก ผมติดเชื้อ โควิด-19 ทำให้ต้องรักษาตัวถึง 21 วัน ในระหว่างนั้นก็ได้ลงชื่อเข้าระบบเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้ทำการนัดหมายวันให้เข้าไปตรวจโรคกับเอกซเรย์ปอด พอถึงวันนัดหมาย โรงพยาบาลก็จัดรถมารับ เมื่อตรวจสุขภาพกับเอกซเรย์ปอดเรียบร้อยแล้ว ผลตรวจออกมาเป็นลบ และเชื้อไม่ลงปอด ทางคุณหมอก็ได้ให้กักตัวต่อประมาณ 7 วัน และสแกนไลน์เพื่อเข้ากลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อบอกอาการประจำวันหลังจากตรวจเสร็จ วันต่อมา ผมได้กรอกอาการต่างๆ และส่งข้อความนี้เข้ากลุ่มไลน์นั้น ซึ่ง เมื่อส่งข้อมูลไปแล้วแต่ด้วยความที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ข้อมูลของผมก็เลยถูกเลื่อนผ่านไป ตอนนั้นผมกังวลมากๆ กลัวว่าคุณหมออาจจะไม่เห็นข้อมูลของผม ผมเลยเห็นถึงปัญหาในการส่งข้อมูลอาการประจำวันให้กับคุณหมอและเกิดแนวคิดที่จะสร้างระบบติดตาม ช่วยเหลือและประเมินตนเองสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ดูแลตนเองที่บ้านขึ้นมา เพื่อสะดวกต่อการส่งข้อมูลให้กับคุณหมอและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาหมออีกด้วย นายวรากร เล่าต่อไปอีกว่า ระบบติดตาม Home Care ช่วยเหลือและประเมินตนเองสำหรับผู้ป่วยโควิค-19 ช่วยในการวินิจฉัยรักษา ติดตามอาการโรคโควิด-19 ที่รักษาตนเองที่บ้าน (Home Isolation) สามารถประมวลผล และแบ่งระดับความรุนแรงของโรคได้ 3 ระดับ ตามเกณฑ์ของสาธารณสุข ได้แก่ ผู้ป่วยระดับสีเขียว ซึ่งวัดจากผู้ที่มีออกซิเจนในเลือดมากกว่า 95% หากน้อยกว่า 95% ก็จะเกณฑ์เข้ามาตรการ "เจอ แจก จบ" โดยจะมีการนัดหมายเข้ามาเอกซเรย์ปอด ผ่านระบบ LINE Official Home Care ในผู้ป่วยระดับสีเหลือง-เหลืองเข้ม ที่ระบบติดตามวัดจากผู้ที่มีออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 95% และมีโรคประจำตัว จะมีการนัดหมายเข้าเอกซเรย์ปอด ผ่านระบบ LINE Official Home Care และ นัดจ่ายยาเข้าระบบการรักษา และติดตามอาการผ่านระบบ และผู้ป่วยระดับสีแดง จะมีการนัดหมายเข้าเอกซเรย์ปอด ผ่านระบบLINE Official Home Care และ นัดจ่ายยาเข้าระบบการรักษา และส่งรถไปรับเข้าทำการรักษา โดยระบบนี้ถูกพัฒนาภายใต้การควบคุมของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีความแม่นยำในการแบ่งกลุ่มอาการและเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที รวมถึงการบันทึกผล ATK ที่บ้านได้ และส่งตรงเข้าสู่ระบบยืนยันว่าป่วยจริง โดยจะแจ้งนัดเอกซเรย์ปอด และการเข้ารับการรักษา พร้อมทั้งแสดงผลรายงานอาการประจำวันของผู้ป่วยให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ได้ โดยวิธีใช้งานในส่วนของผู้ใช้งานเริ่มจากลงทะเบียนผ่านระบบ Home care โดยการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR-Code) และตั้งค่า Line official ซึ่งจะทำหน้าที่เพื่อแจ้งเตือนผู้ป่วยให้บันทึกอาการประจำวัน และ บันทึกค่าอุณหภูมิ ออกซิเจนในเลือด และชีพจร วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ตรวจสอบกำหนดวันที่เข้ารับการกักตัวและออกจากการกักตัวเองได้ บันทึกผล ATK ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ ดูนัดหมายเอกซเรย์ปอด วิธีการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และมีช่องทางติดต่อในกรณีฉุกเฉินหรือมีอาการวิตกกังวล ส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ ระบบ Home Care ได้จัดทำ User แจกให้กับโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล และสถานพยาบาลในเครือได้ใช้งาน ตรวจสอบความผิดปกติของคนไข้ได้ และแสดงผลรายงานอาการประจำวันของคนไข้ได้ โดยแพทย์ให้คำแนะนำผ่านระบบได้ พร้อมทั้งแจ้งนัดเอกซเรย์ปอด และทำการเข้ารักษาในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งระบบติดตาม ช่วยเหลือและประเมินตนเองสำหรับผู้ป่วยโควิค-19ทำให้การติดตามอาการและการรักษาไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้อัตราการเข้ารับการวินิจฉัย ได้ไม่ทันท่วงทีส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก คลายความกังวลของผู้ป่วยไปได้มาก โดยปัจจุบันวิทยาลัยเทคนิคแม่สอด ได้ทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีคนไข้เข้าใช้งานในระบบ Home Care มากกว่า 600 คน ทดสอบใน 4 เขตพื้นที่การรักษา ได้แก่ คลินิกหมอครอบครัวโรงพยาบาลแม่สอด คลินิกชุมชนอบอุ่นโรงพยาบาลแม่สอด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ปะ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าสายลวด โดยอนาคตหากโรคโควิด-19หมดไป ก็จะนำระบบมาพัฒนาไว้ใช้ดูแลรักษากับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ต่อไป ทั้งนี้ สนใจระบบ Home Care ระบบติดตาม ช่วยเหลือและประเมินตนเองสำหรับผู้ป่วยโควิค-19 ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ครูภูธนพัฒน์ ปันแก้ว ครูสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จังหวัดตาก โทร.093-239-2914