สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันแรก เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่21 มี.ค.65) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันแรก ในการนี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กราบทูลประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีวเคมี “ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรี สวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ พระกรณียกิจนานัปการที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาวิจัยทางวิชาการวิทยาศาสตร์ ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดีและร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ทรงตั้งพระทัยอุทิศพระองค์เพื่อจุดมุ่งหมายที่สูงยิ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรทั่วสารทิศ นอกจากนี้ทรงสนับสนุนการวิจัยทางด้านชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งวิทยาและพิษวิทยาเพื่อการส่งเสริมการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เคมี การแพทย์ การสาธารณสุข และการพยาบาลอย่างจริงจัง ทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ด้วยพระวิริยะอุตสาหะและพระหฤทัยเต็มเปี่ยมด้วยพระเมตตาที่มีต่อพสกนิกร ตลอดจนผลงานและพระดํารัสข้อแนะนำอันก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอเนกอนันต์ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์จนเป็นที่ประจักษ์ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาชีวเคมี เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้ขจรไกลแผ่ไพศาลและจารึกไว้ในแผ่นดิน สืบไป” จากนั้นพระราชทานเกียรติบัตรและเครื่องหมายเกษตราภิชาน แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณกฤษณา ชุติมา คณะวิทยาศาสตร์ พระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง แก่ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล พระราชทานเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ แก่ ศาสตราจารย์ประดิษฐ์ พงศ์ทองคำ สาขาวิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก 36 คน ปริญญาโท 163 คน ปริญญาตรี 1,134 รวมทั้งสิ้น 1,333 คน จำนวน 8 คณะ ได้แก่ คณะประมง คณะเศรษฐศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย โครงการสหวิทยาการ วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดการศึกษา ปีนี้นับเป็นปีที่ 78 ได้เปิดสอนวิชาขั้นดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิต และปริญญาบัณฑิต ในบัณฑิตวิทยาลัยและคณะต่างๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 591 หลักสูตร มีนิสิตทุกระดับ จำนวน 68,704 คน มีอาจารย์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ อีก 9,870 คน จนถึงปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 329,114 คน โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ งานวิจัยและสร้างนวัตกรรมระดับโลก ช่วยเหลือประชาชน ประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งมีความโดดเด่นในศาสตร์แห่งแผ่นดิน บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเป็นผู้มีความรู้คู่ความดี และพร้อมจะพัฒนาชาติไทย โดยหลักธรรมาภิบาล ภายใต้หลักความกลมกลืนบนความแตกต่าง ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียม สิทธิ หน้าที่ ตลอดจน เพศ อายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่บัณฑิตทุกคนจะต้องได้รับการพัฒนา นอกเหนือไปจากความรู้ทางวิชาการที่ได้รับจากมหาวิทยาลัย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า บัณฑิตทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ย่อมมุ่งหวังความเจริญมั่นคงในหน้าที่การงานด้วยกันทุกคน การที่จะประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังนั้น แต่ละคนต้องลงมือทำงาน โดยนำความรู้และหลักทฤษฎีที่ได้ศึกษา ไปปรับใช้ให้พอเหมาะพอดีกับงาน สถานการณ์และสภาพแวดล้อม โดยระลึกไว้เสมอว่า การมีความรู้ความสามารถอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องมีคุณธรรมประจำใจด้วย และการทำงานทุกอย่าง จะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้อื่นฝ่ายอื่นอยู่เสมอ ข้อสำคัญ ทุกคนควรเปิดใจให้กว้าง ติดตามความก้าวหน้าของวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้า หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม ด้วยความกระตือรือร้นและขวนขวายอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้ทุกคนต้องมีการปรับตัว และรู้จักนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งหมั่นพัฒนาตนพัฒนางาน ให้ทันต่อเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลง ถ้าบัณฑิตทั้งหลายปฏิบัติได้ตามที่กล่าวมานี้ โดยเต็มกำลัง อย่างสม่ำเสมอ ก็เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ตามที่มุ่งหวังได้อย่างแน่นอน