มทร.พระนคร จับมือ บช.น. พัฒนาเว็บไซต์ “ฉลาดโอน.com” สนับสนุนงานป้องกัน และปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ผนวกกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 (COVID-19) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การซื้อขายสินค้า และการทำธุรกรรมทางการเงินในการชำระค่าบริการ หรือสินค้าต่างๆ หรือที่เรียกว่าธุรกรรมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มซื้อขาย และแอปพลิเคชันต่างๆ เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะสะดวกทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน แต่ก็แฝงด้วยภัยคุกคามจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาศัยช่องโหว่ ทั้งจากคน ระบบ และกระบวนการ ตลอดจนข้อกฎหมายที่ยังมีจุดอ่อน แอบแฝงเข้ามาหาผลประโยชน์ด้วยกลโกงรูปแบบต่างๆ ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความเสียหาย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัย เพื่อให้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบต้นแบบ เพื่อช่วยในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดของมิจฉาชีพออนไลน์ โดยได้บูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง ทีมอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร นำโดย ดร.เทอดพงษ์ แดงสี อาจารย์กร พวงนาค กับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 และงานประชาสัมพันธ์ ดร.ณัฐวรพลกล่าวว่า ทั้งนี้ โครงการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบต้นแบบ เพื่อสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ เป็นการพัฒนาระบบต้นแบบสำหรับช่วยในการติดตามหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และเป็นตัวกลางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบคนโกง เบอร์โทรหลอกหลวง SMS หลอกหลวง และเป็นศูนย์ตรวจสอบรายชื่อบัญชีมิจฉาชีพออนไลน์ ผ่านศูนย์ปฏิบัติการเว็บไซต์ “www.ฉลาดโอน.com” เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนตัดสินใจโอนเงินชำระค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ด้าน ดร.เทอดพงษ์ แดงสี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ “การออกแบบและพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกัน และปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์” เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสั่งสินค้า อาหาร กู้เงินผ่านระบบออนไลน์เนื่องจากสะดวกสบาย ซึ่งหากผู้ซื้อหรือผู้ขายที่ไม่ได้ทำการตรวจสอบตัวตนจริงของบุคคลที่ทำธุรกรรมด้วยความละเอียดถี่ถ้วน อาจทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ดังกล่าว ในการกระทำความผิดเพื่อหลอกเหยื่อผ่านช่องทางออนไลน์ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการได้มีการรวบรวมข้อมูลมิจฉาชีพออนไลน์ ปัญหา และช่องโหว่ของคนโกงไว้ ณ ปัจจุบัน มากกว่า 80,000 รายการ พร้อมจะแบ่งปันความรู้ แนวทาง เทคนิคการเอาผิดดำเนินคดี อายัดบัญชีของคนโกงเพื่อจะได้ไม่ให้มีประชาชนถูกหลอกลวงโดยไม่รู้ตัวอีกต่อไป โดยทางเว็บไซต์ฉลาดโอนจัดกลุ่มการบริการออกเป็น 6 รูปแบบ คือ 3 เช็ก 2 ประเมิน 1 แจ้ง โดยมีรายละเอียด คือ เช็กชื่อบัญชีหรือเลขบัญชีคนโกง เพื่อป้องกันก่อนโอนเงิน เช็กตัวตนจริงของผู้ขาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เกิดความมั่นใจก่อนการโอน ประเมินบัญชีโซเชียล เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้าหรือบุคคลที่ต้องการทำธุรกรรมด้วยประเมินเอกสารหลักฐานการแจ้งความดำเนินคดี เพื่อให้ผู้เสียหายรับทราบถึงโอกาสในการแจ้งความดำเนินคดีสำเร็จ และแจ้งรายชื่อคนโกง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เสียหายร่วม ทำให้การดำเนินคดีมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น “จากที่ได้ทราบข้อมูลจากผู้เสียหายหลายราย ไม่สามารถหาหลักฐานมาเอาผิดมิจฉาชีพได้ เพราะมักจะมีการใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือบัญชีธนาคารที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ รวมถึงมูลค่าความเสียหายน้อย ทำให้ผู้เสียหายไม่อยากเสียเวลาในการแจ้งความดำเนินคดี จึงทำให้มิจฉาชีพเหล่านี้ได้กระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันกับผู้เสียหายอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้มีมูลค่าความเสียหายรวมกันมหาศาล ดังนั้น การพัฒนาระบบที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง เช่น ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของผู้กระทำความผิด บัญชีธนาคาร ประวัติ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลก่อนการทำธุรกรรม นับเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อและช่วยลดความเสียหาย หรือโอกาสสูญเสียได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ ฝากให้ประชาชน และผู้เสียหายทุกคนเข้ามาใช้บริการตรวจสอบข้อมูล หรือช่วยกันแจ้งข้อมูลของมิจฉาชีพต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.ฉลาดโอน .com นอกจากนี้ ทางเว็บไซต์ยังมีช่องทางการติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน LINE ที่ให้บริการแนะนำหรือให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ถูกโกงหรือผู้เสียหายที่ต้องการขอคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือในเบื้องต้นด้วย” ดร.เทอดพงษ์ แดงสี กล่าว