"....ก้าวไปอย่าถอย หากล้มจงลุกขึ้นสู้ใหม่ รู้ว่าเธอเหนื่อยเพียงไหน เราคือกำลังใจ ก้าวเดินไปพร้อมกัน เส้นทางฝันนั้นยังยาวไกล ก้าวต่อไปไม่ท้อ ไม่บ่น ขอเพียงเธอยืนหยัดและอดทน บนเส้นทางที่ตั้งใจ" หลายคนถึงกับหลั่งน้ำตา เมื่อบรรยากาศในช่วงท้ายของการอบรมเป็นไปอย่างซาบซึ่ง เนื้อเพลง "เติมฝัน" ที่ดังในช่วงปิดท้าย ได้เพิ่มความอบอวลให้กับมิตรภาพ แม้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ ที่ได้มาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน แต่มีคำสัญญามากมายที่ออกจากใจของเยาวชนกลุ่มนี้ ระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2565 นักเรียนชั้น ปวส.2 กว่า 45 คน จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเสริมประสบการณ์นักเรียนทุนนวัตกรรมสายวิชาชีพชั้นสูง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บนศูนย์การเรียนรู้บนดอยแม่สลอง จ.เชียงราย ซึ่งจัดโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กิจกรรมนอกห้องเรียนครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งที่ "มากกว่า" การเรียนรั้วในสถาบันการศึกษา และเพิ่มพูนทักษะในชีวิตจริง โดยเยาวชนกลุ่มนี้เป็นนักศึกษาปีสุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำงานหรือเรียนต่อ การจัดกิจกรรมเป็นไปอย่างระมัดระวังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งต้องมีการตรวจ ATK ตั้งแต่ก่อนและเมื่อเดินทางมาถึง โดยเคร่งครัดในเรื่องต่างๆ ตามข้อกำหนด "ผมได้รู้จักเพื่อนๆ กลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มขึ้น ได้เพื่อนใหม่อีกหลายคน ได้เรียนรู้อาหารชนเผ่าและศิลปวัฒนธรรม เป็นประสบการณ์ที่ผมหาไม่ได้ในห้องเรียน" โอเว่น-ธนากร เพ็งบ้านไร่ วัย 20 ปี หนุ่มอารมณ์ดีจากอุตรดิตถ์ เล่าถึงช่วงเวลาอันสนุกสนาน โอเว่น กำลังจะจบจากคณะเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เขาและเพื่อนๆ 25 คนใช้เวลาเกือบ 10 ชั่วโมงนั่งรถตู้ เดินทางจากจังหวัดสุโขทัยมายังดอยแม่สลอง หลังจากเรียนจบ ม.6 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โอเว่น ได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เรียนต่อที่วิทยาลัยแห่งนี้ ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ดีนัก หากไม่ได้ทุนสนับสนุนเขาคงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ "ผมชอบช่วยงานของหมู่บ้าน บ้านไหนมีงานบวช หรืองานศพ ผมมักไปช่วยงาน ผมมักคลุกคลีอยู่กับคนแก่ ให้ท่านเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง ผมชอบเรียนรู้เรื่องเก่าๆจากผู้เฒ่า มีโอกาสผมก็ไปนั่งดูเขาทอผ้า" หมู่บ้านของโอเว่นมีเชื้อสายไทยยวน ทำให้มีเอกลักษณ์เรื่องผ้าทอ เขาจึงเริ่มหัดทอผ้าและปักลวดลายโดยมี "ย่าเล็ก" คอยฝึกฝนให้ "พอทำแล้วมีความสุข ผมได้ฝึกสมาธิเพราะต้องใจเย็นๆ ถ้าไม่ชอบผมคงไม่ทำ" เขาให้เหตุผลสั้นๆในความมุ่งมั่น แม้เป็นเรื่องไม่ชินตากับภาพเด็กผู้ชายนั่งทอผ้า แต่เขาไม่สนใจและมุ่งมั่นเรียนรู้ลวดลายต่างๆจากย่าเล็กและผู้เฒ่าผู้แก่ จนเขาสามารถอธิบายศิลปะของชาวไทยยวนแขนงนี้ได้อย่างลุ่มลึก โอเว่น ปันเงินบางส่วนที่ได้รับจากทุน กสศ.ในแต่ละเดือนนำไปซื้อ "กี่ทอผ้า" และอุปกรณ์อื่นๆ เริ่มลงมือปักย่ามขาย แม้ยังได้ราคาไม่สูงเพราะไม่ใช่ลายสลับซับซ้อน แต่ก็ทำให้เขามีรายได้และเห็นช่องทางในการทำมาหากิน "ผมยังทำลวดลายไม่เก่งนัก กำลังฝึกฝนอยู่" เขามุ่งมั่นที่เดินหน้าต่อไป แม้เป็นแค่เพียงงานอดิเรกของชีวิตและเขายังต้องเรียนต่อหลังจบ ปวส.ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา "อนาคตผมคงหางานหลักทำ อาจเป็นลูกจ้างที่ไหนสักแห่งเพื่อหารายได้หลักเลี้ยงครอบครัว แต่งานทอผ้าก็จะไม่ทิ้ง เพราะเป็นงานที่ผมชอบ" ตลอดเวลา 2 คือ 3 วัน ในกิจกรรม ที่ พชภ.จัดขึ้น โอเว่น ได้เรียนรู้เรื่องอาหารชาติพันธุ์ เรื่องอาชีพการปลูกกาแฟของชาวอาข่า และการสำรวจป่าซึ่งเป็นป่าที่ชุมชนร่วมกันฟื้นฟูขึ้นมาเมื่อกว่า 25 ปีก่อนโดยชาวบ้านหลากหลายชาติพันธุ์และ พชภ. จนทำให้วันนี้กลายเป็นป่าใหญ่และเป็นแหล่งอาหารและป่าต้นน้ำที่สำคัญบนดอยแม่สลอง "ผมชอบกิจกรรมลักษณะนี้ครับ ชอบปฎิบัติจริง" ความรู้สึกของโอเว่นไม่แตกต่างจาก "เจน" ชลนิชา งามตา วัย 19 ปี นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ที่ได้มาร่วมกิจกรรมบนดอยแม่สลองเป็นครั้งที่ 2 เจนเป็นชาวแม่อาย จ.เชียงใหม่ อาศัยอยู่กับตายาย เมื่อจบ.ม.6 เธอไม่คิดว่าจะเรียนต่อ แต่โชคดีที่มีผู้แนะนำให้ขอทุนจาก กสศ. เธอจึงได้มีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย "มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนเพราะได้เจอเพื่อนๆ ต่างสถาบัน ครั้งก่อนมีแต่เพื่อนที่มหาวิทยาลัย ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น แต่ละคนน่ารักและเป็นกันเอง" เจนเล่าถึงความรู้สึกในการร่วมกิจกรรมก่อนที่เธอจะจบการศึกษา "ที่ประทับใจมากที่สุดคือได้เรียนรู้เรื่องชา-กาแฟ เพราะนอกจากได้เห็นที่มาตั้งแต่เป็นเมล็ดกาแฟแล้ว ยังได้รู้จักกรรมวิธีดั้งเดิมของชาวบ้านที่คั่วชา" เจน ซึ่งเรียนเอกด้านการท่องเที่ยวบอกว่าประสบการณ์ที่ได้รับจะนำไปปรับใช้กับการวางแผนในอนาคต "เป็นการเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก ได้รู้จักแง่มุมต่างๆของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายดีขึ้น จริงๆ หนูก็มีเพื่อนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อยู่แล้วที่มหาวิทยาลัย พวกเขาต่างมีน้ำใจ การที่ได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมชนเผ่าเพิ่มขึ้น ทำให้เราได้เข้าใจพวกเขามากขึ้น" เสียงเพลงเติมฝันจบลง นักศึกษาทั้งสองสถาบันต่างร่ำลาและอาลัยอาวรณ์กัน บางส่วนจับกลุ่มกันถ่ายภาพ แม้ประสบการณ์บนดอยแม่สลองเป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น แต่อนาคตในมิตรภาพและเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองของพวกเขาอีกยาวไกล การเรียนรู้ชีวิตจริงเป็นเรื่องสำคัญมาก