สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวันที่สาม เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 มี.ค.65 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่สาม ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยในวันนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่น เข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ จำนวน 1 คน ได้แก่ นายพรชัย จุฑามาศ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิทยาการพืช) คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จากนั้นพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ในระดับปริญญาเอก โท ตรี จำนวน 1,653 คน จากคณะเกษตร กำแพงแสน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ ตามลำดับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านการเกษตรในระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดการศึกษา ปีนี้นับเป็นปีที่ 78 เปิดสอนวิชาขั้นดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิต และปริญญาบัณฑิต ในบัณฑิตวิทยาลัยและคณะต่างๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 591 หลักสูตร มีนิสิตทุกระดับ จำนวน 68,704 คน มีอาจารย์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ อีก 9,870 คน จนถึงปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 329,114 คน ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระโอวาท มีใจความต่อจากสองวันที่ผ่านมา ดังนี้ การที่บัณฑิตจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้นั้น จะต้องรู้จักนำความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะสม หมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทุกคนทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน และตั้งใจพัฒนาตนพัฒนางานให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งทุกคนต้องพร้อมที่จะปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้บังเกิดประโยชน์ ข้อสำคัญ แต่ละคนจะต้องมีคุณธรรมประจำใจ คือมีความสุจริต ความตั้งใจจริง ความอุตสาหะอดทน ความเมตตาเสียสละ และความมุ่งประโยชน์ส่วนรวม ในวันนี้ ใคร่จะกล่าวเพิ่มเติมแก่ท่านทั้งหลายว่า นอกจากคุณธรรมสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว บุคคลยังจำเป็นต้องมีสติความยั้งคิด มีความฉลาดรู้ และมีวิจารณญาณอันถี่ถ้วนรอบคอบด้วย เพราะคุณสมบัติทั้งนั้นจะเป็นเครื่องกำกับประคับประคอง ให้แต่ละคนสามารถวินิจฉัยตัดสินได้อย่างชัดเจน ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดสมควรกระทำ สิ่งใดสมควรละเว้น เพื่อให้ชีวิตและกิจการงานดำเนินไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ก่อให้เกิดประโยชน์และความเจริญมั่งคงอันยั่งยืนเที่ยงแท้ บัณฑิตทุกคนจึงควรพัฒนาตนเอง ให้มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์