ปัญหาหมอกควัน ปัญหาที่วนซ้ำกลับมาทุกปีในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนอย่างหนัก เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ และศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ คือ ต้องการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดได้ลงพื้นที่จัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่น (PM2.5 Cleanroom) และมอบหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 กว่า 5 โรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับ สิงห์อาสาผู้ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ CCDC: Climate Change Data Center ผู้มอบเครื่องวัดปริมาณฝุ่น "DustBoy" เครือข่ายเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศในการตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อให้เยาวชนในพื้นที่มีห้องเรียนที่ปลอดภัยเหมาะแก่การเรียนในช่วงสถานการณ์หมอกควัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กๆ ลดการเกิดอันตรายจากการแพ้ ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน และอาจจะรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็ง โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจ ได้ ห้องปลอดฝุ่น หรือ PM2.5 Cleanroom ถูกพัฒนาโดยคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุน การแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ และศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้แก่คนในพื้นที่ที่ต้องการ ด้วยหลักการ อุด-กั้น-กรอง คือการอุดรูรั่วของห้องทั้งหมด แล้วกั้นไม่ให้อากาศข้างนอกเข้าไปข้างในได้ จากนั้นทำการกรองอากาศข้างในให้สะอาด โดยเทคนิคสำคัญคือการเติมอากาศสะอาดเข้าไปในห้องอยู่เสมอ ด้วยพัดลมที่มีเครื่องกรองอากาศผ่านทางท่อ และปิดช่องเปิดขนาดใหญ่ด้วยการติดตั้งมุ้งหรือผ้าม่านกันฝุ่นบริเวลาหน้าต่างหรือบานเกร็ดภายใน เพื่อควบคุมระดับของสิ่งปนเปื้อนในอากาศ ทั้งเชื้อโรค ฝุ่นละออง ไอสารเคมี ก๊าซ หรือควัน โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ นอกจากจะช่วยลดการสะสมของสิ่งปนเปื้อนในอวัยวะต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยแล้ว ยังช่วยลดความร้อน ควบคุมปัญหาเรื่องกลิ่น ความชื้น และคุณภาพอากาศภายในห้องด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้คณะทำงานได้จัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นให้กับโรงเรียนชุมชนวัดช่อแล ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นที่เรียบร้อย จึงเดินหน้าต่อจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นให้กับโรงเรียนบ้านแม่กรณ์ ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย และเริ่มดำเนินแผนการจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นในอีก 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสกาดพัฒนา ต.สกาด อ.ปัว จ.น่าน โรงเรียนบ้ายห้วยปลากั้ง ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และโรงเรียนวัดศรีโพธาราม ต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ตามลำดับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งหวังให้เกิดการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการนำนวัตกรรมหรืองานวิจัยมาช่วยในการแก้ปัญหาแล้ว ยังเน้นการลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิชาการเพื่อสร้างรากฐานความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด บูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพราะการแก้ปัญหาหากเกิดจากใครคนใดคนหนึ่งคงไม่สำเร็จได้เท่ากับการที่ทุกคนนั้นตระหนักกับปัญหาและลงมือแก้ไขเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง