นายสมมาตร เอียดฉิม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น เปิดเผยว่า ปูนา จัดเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกและหาได้ง่ายในธรรมชาติที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันการจับปูนาไม่ได้เหมือนในอดีตเพราะมีจำนวนปูในธรรมชาติน้อยลงทุกปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศ การใช้สารเคมีเพื่อฆ่าแมลงกำจัดวัชพืช และการใช้ปุ๋ยเคมี วิธีที่สามารถแก้ปัญหาการลดจำนวนลงของปูนาในธรรมชาติได้ คือ การเพาะเลี้ยงปูนา เพราะปูนาสามารถเลี้ยงได้ในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ ซึ่งราคา ปูนาในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 80 -100 บาท นับเป็นราคาดี โดยเฉพาะในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ ปูนาขาดแคลน ซึ่งราคาขายของปูนานั้นเป็นสิ่งที่จูงใจสำหรับคนที่ต้องการสร้างอาชีพเสริม อีกทั้งตลาดของการเลี้ยงและผลิตภัณฑ์จากปูนา พบว่ามีคู่แข่งในตลาดน้อย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร ชุมชนให้ได้รับความรู้ในการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงปูนา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปูนาโดยการแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ เกิดการจ้างงานในชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง “น้องนัท” นางสาวอาภัสรา ใจทน นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น เล่าว่า ตนชอบกินปูนา แต่ไม่สามารถหาปูนาที่สะอาดตามธรรมชาติได้ เลยตัดสินใจเลี้ยงปูนาด้วยตนเอง แรกเริ่มที่เลี้ยงปูนายังไม่มีความรู้มากพอ อาศัยองค์ความรู้ในสาขาวิชาสัตวศาสตร์ที่ตนเรียนมาจากวิทยาลัยฯ บวกกับความพยายามในการศึกษาเพิ่มเติม ลองผิดลองถูกและศึกษาด้วยตัวเองกว่า 5 เดือน จึงเกิดเป็นการเลี้ยงปูนาในระบบเปิด มาตรฐานปลอดภัย ไร้สารเคมี ด้วยการทำบ่อซีเมนต์ใช้น้ำในคลองในการเลี้ยงปูนา พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในฟาร์มปูนา โดยการใส่น้ำหมัก EM ที่ทางวิทยาลัยได้สอนมาใช้ในการปรับสภาพน้ำ ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้ สามารถกำหนดทั้งปัจจัยแวดล้อมด้านนอก ทั้งในเรื่องของน้ำและอาหาร เน้นเรื่องความสะอาดปลอดภัยและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เช่น การควบคุมระบบน้ำสปิงเกอร์เพื่อทำหมอก หรือ ฝนเทียม เพื่อให้ปูนาผสมพันธุ์และมีผลผลิตได้ตลอดปี ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้ในการเลี้ยงปูนาได้มาจากแผงโซล่าร์เซลล์ ซึ่งในกระบวนการควบคุมน้ำสามารถทำผ่านมือถือได้ ส่วนอาหารที่นำมาเลี้ยงปูนามาจากวัชพืชในฟาร์ม ทั้งผักตบชวาอ่อนๆ ราก ลำต้น จอกแหน ปลาแห้งบด นำมาทำเป็นอาหารเม็ดในการเลี้ยงปูนา สำหรับปูนาที่ตนนำมาเพาะ คือ ปูนาพันธุ์พระราชทาน หรือเกษตรกร เรียกว่า ปูนาพระเทพ และปูนาพันธุ์กำแพง ลักษณะเด่นปูนาพันธุ์พระเทพจะมีสีม่วง และพันธุ์กำแพง มีกระสีขาวปนบนกระดอง อาภัสรา เล่าต่อไปอีกว่า วิธีการเลี้ยงปูนา เริ่มจากหาพ่อแม่พันธุ์มาจากฟาร์มที่น่าเชื่อถือ แล้วนำมาเลี้ยงในบ่อดิน บ่อคอนกรีต หรือบ่อผ้าใบ 1-2 เดือน เพื่อให้ผสมพันธุ์และตั้งท้อง แม่ปู 1 ตัวจะออกลูกประมาณ 200 -600 ตัว เมื่อแม่ปูใกล้ออกลูกให้นำมาเลี้ยงอนุบาลในกะละมัง หรือแยกบ่อ เป็นเวลา 2 เดือน หากเลี้ยงในบ่อดิน สามารถปล่อยให้ออกลูกในบ่อเดียวกันได้ เมื่อปูอายุ 3 เดือนจะได้ปูนาที่มีตัวขนาดกินได้ทั้งตัว สามารถจับขายเพื่อไปทำปูดอง หรือแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ ได้ หากต้องการเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้เลี้ยงปูนาต่อไปอีก 3 เดือน จึงสามารถจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ โดยที่ฟาร์มของตนจะเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปของกบ ปลาดุกวันละ 1 มื้อ ในช่วงเย็นเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องให้อาหารมาก ซึ่งตนมองว่า ปูนามีจุดเด่นคือ เลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อแน่น สามารถนำมาเลี้ยงได้ในบ่อซีเมนต์ บ่อพลาสติก บ่อดิน และปูนาก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นเมนูอาหารที่คนนิยมทานได้ เช่น ลาบปู ปูเค็ม ปูดอง หรือน้ำพริก ซึ่งปัจจุบันตนมีรายได้ระหว่างเรียนเฉลี่ย 40,000 บาทต่อเดือน และตนเพิ่งตัดสินใจร่วมกับครอบครัว เปิดตัวฟาร์มปูนาอย่างเป็นทางการ ชื่อ “สุตะธรรมฟาร์มปูนา” ในพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ จำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ปูนา พันธุ์พระราชทาน และ พันธุ์กำแพง คู่ละ 80 บาท และปูนารุ่น กิโลกรัมละ 180-200 บาท ทั้งนี้ หากสนใจ สามารถติดต่อได้ที่ Facebook : สุตะธรรมฟาร์มปูนา Line ID : nutnut2544n หรือโทร 061-036-5133