การแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสครบรอบ 56 ปี การทรงเรือใบข้ามอ่าวไทย “การแล่นใบสอนให้คนคิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือแล้วเรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน เราต้องคิดเองทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้ แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบาเราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่ง เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็นดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้ แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จัก และเข้าใจในการคิดเองทำเอง” จากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับกีฬาเรือใบ บ่งชี้ถึงปรัชญาที่แฝงไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปลูกฝังให้เยาวชนไทยเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพโดยอาศัยกีฬาเรือใบเป็นสื่อ จนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เด็กไทยแล่นใบเป็น เด็กไทยใช้ชีวิตเป็น” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ ทรงจัดตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้น คือ หมวดเรือใบหลวงจิตรลดา ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และสโมสรราชวรุณ (สโมสรเรือใบ) ที่สำคัญทรงมีพระปรีชาสามารถในการแล่นใบ รวมทั้งมีพระอัจฉริยภาพในการต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง ซึ่งเรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อเป็นเรือประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า “ราชประแตน” ทรงต่อเรือใบโอเคลำแรกชื่อ “นวฤกษ์” ทรงออกแบบเรือใบขึ้นใหม่ คือ เรือใบประเภทมด ซึ่งได้ทรงจดลิขสิทธิ์ที่ประเทศอังกฤษเป็นประเภท INTERNATIONAL MOTH CLASS นอกจากนั้น พระองค์ทรงต่อเรือประเภท โอเค ขึ้นมาอีกลำหนึ่ง พระราชทานนามเรือว่า “เวคา” โดยเหตุการณ์ที่ยังประทับอยู่ในความทรงจำของทหารเรือทุกนาย เกิดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน 2509 เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเรือใบ “เวคา” จากหน้าวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน เมื่อเวลา 04.28 น. ข้ามอ่าวไทยไปยังอำเภอสัตหีบ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล ด้วยพระองค์เองเพียงพระองค์เดียว ทรงใช้เวลาในการแล่นใบถึง 17 ชั่วโมงเต็ม โดยถึงอ่าวนาวิกโยธิน ในเวลา 21.28 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงนำธงราชนาวิกโยธินที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วยปักเหนือก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน ในขณะที่วงดนตรีบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชนาวิกโยธิน และหลังจากทรงปักธงราชนาวิกโยธินแล้ว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึก และหลังจากนั้นในปีเดียวกัน ได้พระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” ที่ทรงแล่นใบข้ามอ่าวไทย เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรแก่ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทยประจำปีของสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ฯ จนถึงปัจจุบัน ในโอกาสวันที่ 19 เมษายน 2565 เป็นปีที่ 56 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแล่นเรือใบข้ามอ่าวไทย กองทัพเรือ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ การกีฬาแห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบ และพระอัจฉริยภาพในการทรงต่อเรือใบ สำหรับกิจกรรมที่ได้จัดขึ้นในครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดพิธีถวายราชสักการะ การแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทย จากหาดชะอำ บริเวณโรงแรมรีเจนท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท มายังอ่าวนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ในวันที่ 19 เมษายน 2565 รวมถึงการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถทางด้านการกีฬาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสนองพระราชปณิธานในการเผยแพร่กีฬาเรือใบให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนและเยาวชนของชาติ ตลอดจนเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” ให้กับสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ฯ เพื่อเป็นรางวัลนิรันดร ให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบทางไกล โดยผู้ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบทางไกลจะได้ครองรางวัลหางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” (จำลอง) พร้อมจารึกชื่อเพื่อเป็นเกียรติประวัติบนหางเสือเรือพระที่นั่งเวคา นอกจากนั้นระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2565 จะเป็นการแข่งขันเรือใบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 (Thailand Sailing Championships 2022) ณ บริเวณอ่าวดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยจะมีพิธีปิดการแข่งขันและมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศในวันที่ 23 เมษายน 2565 ณ ศูนย์สมุทรกีฬา อ่าวดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้การแข่งขันดังกล่าวได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งได้รับความสนใจจากนักแล่นใบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมการแข่งขัน เป็นจำนวนมาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ