ตลอดระยะเวลา 39 ปี ของการพัฒนาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพัฒนาในลักษณะ “ต้นทางเป็นป่าไม้ ปลายทางเป็นประมง ระหว่างทางเป็นเกษตรกรรม” เริ่มตั้งแต่แก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกทำลาย จนกระทั่งสามารถพลิกฟื้นผืนป่ากว่า 8,500 ไร่ ให้กลับเป็นป่าที่สมบูรณ์อีกครั้ง และศึกษา ทดลอง วิจัย ทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ เกษตรกรรม เพื่อหาตัวแบบความสำเร็จเผยแพร่สู่เกษตรกร ประชาชนที่สนใจ ปัจจุบันมีผลสำเร็จโดยนำมาจัดทำหลักสูตรอบรมกว่า 34 หลักสูตร และขยายผลไปสู่เกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ถึง 18 หมู่บ้าน 17 จังหวัดภาคเหนือมีเกษตรกรตัวอย่างศูนย์ กว่า 205 ราย ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริอีก 22 แห่ง รวมถึงศูนย์เรียนรู้เครือข่ายทั้งภาครัฐ ชุมชน และสถานศึกษา จำนวน 125 แห่ง นายไพรัตน์ ทับประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้กล่าวถึงแนวพระราชดำริในการปลูกป่าว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้ปลูกป่า ในส่วนที่มีน้ำก่อน แล้วค่อยขยายขึ้นไป เพื่อให้รากพืชเก็บกักน้ำไว้ได้และอีกส่วนหนึ่งหลังจากที่มีน้ำเข้ามาก็ปลูกป่า ส่วนในเรื่องของตะกอนดินแต่ละปีต้องมีการขุดลอกเป็นประจำทุกปี พระองค์บอกว่างั้นต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ เมื่อมีการแก้ที่ต้นเหตุตะกอนเกิดจากการชะล้างของฝนลงมา ฉะนั้นก็ไปหาอะไรมากั้นไม่ให้ตะกอนลงอ่างเก็บน้ำ จึงเป็นจุดกำเนิดในเรื่องของ (check dam) หรือฝายต้นน้ำ ประโยชน์ของ (check dam) คือป้องกันตะกอนที่ไหลลงมาอ่างเก็บน้ำ ทำให้น้ำไหลตามแนวระดับพื้นดินในแนวราบซึ่งเป็นการเพิ่มระยะเวลาของการซึมลงดิน สร้างความชุ่มชื้นให้แก่รากพืชต่าง ๆ ระหว่างน้ำ ป่าไม้ แล้วก็พืช ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เราได้รับที่เป็นจุดให้เราสังเกตก็คือการปลูกป่า พระองค์ให้ใช้พืชพื้นเมืองเดิม พันธุ์ไม้เดิม ว่าอันไหนที่มันเกิด แล้วที่มันเกิดได้ถูกตัดถูกทำลายไปให้เอาเมล็ดพันธุ์ตรงปลูกนั้นขึ้นมา เพื่อให้เหมาะสมกับอากาศ ภูมิสังคมของต้นไม้ นี่คือในเรื่องของความเข้าใจเกี่ยวกับป่าไม้ของพระองค์” หลังจากการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ทำให้ผืนป่ามีความสมบูรณ์ระบบนิเวศกลับคืนมาเพี่อยังประโยชน์แก่ประชาชนได้พึ่งพาทรัพยากรในการดำเนินชีวิต และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบ ประชาชนตกงาน ดังนั้นศูนย์ศึกษาฯ จึงทำหน้าที่ในการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นโดยการสร้างแหล่งอาหารให้เกิดขึ้นกับครอบครัวก่อน และจึงขยายผลตามความต้องการของพี่น้องประชาชนที่มารับบริการ ช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้ได้รับผลกระทบหลายรายสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ดังเช่นตัวอย่าง นายสาธิต เลิศสุวรรณ์ อยู่ที่ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า ”ชีวิตเปลี่ยนไปจากที่เคยใช้ชีวิตบนเส้นทางดนตรี มีร้านอาหาร แต่เมื่อสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น การประกอบอาชีพก็ปิดตัวลง จึงได้ทบทวนความคิดนึกถึงแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ที่รู้จักแต่ไม่เคยเข้าไปขอความรู้ ต่อมาจึงไปขอเข้ารับการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เพาะเห็ด นอกจากจะได้รับความรู้แล้วยังได้รับการสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ โดยนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่มีเกือบ 5 ไร่ ปลูกข้าว ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลูกพืชผักสวนครัว ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี สามารถพลิกผืนดินที่ไม่มีมูลค่าให้มีมูลค่าได้ทุกตารางนิ้ว ผลผลิตนอกจากจำหน่ายบริเวณชุมชนแล้วส่วนหนึ่งถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารพื้นเมืองจำหน่ายทุกวันเสาร์โดยเปิดเพจเฟซบุ๊ก บ้านนายามเย็นดอยสะเก็ดเชียงใหม่ เป็นช่องทางจำหน่ายเป็นรายได้” เมื่อถามถึงความพอเพียง นายสาธิต กล่าว่า “การเริ่มต้นความพอเพียงคือให้ครอบครัวมีกินก่อน จากนั้นก็แบ่งปันที่เหลือก็ขายเป็นรายได้ต่อไป สำหรับอนาคตวางแผนไว้ว่าจะขยายพื้นที่ความรู้ให้แก่ผู้สนใจเพื่อนบ้านใกล้เคียง” และนี่คืออีกตัวอย่างของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ไม่ยอมแพ้ในโชคชะตา อีกหนึ่งตัวอย่างเรื่องราวของ นางสาววันทนีย์ ปาลีตา และคู่ชีวิต ที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์สถานการณ์โควิดเช่นเดียวกัน กล่าวว่า “เดิมเคยทำงานเป็นพนักงานขายของบริษัทผ้าไหมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้ตกเดือนละ 2 หมื่นกว่าบาท ส่วนสามีมีอาชีพขับรถตู้รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศร่วมกับบริษัททัวร์ มีรายได้รวมกันค่อนข้างมาก แต่ทุกอย่างต้องยุติลงเพราะสถานการณ์โควิด เงินเก็บถูกนำมาใช้จ่ายและลงทุนไปกับการปลูกโกโก้ หวังว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่ทุกอย่างก็ต้องใช้เวลาประกอบกับความรู้ด้านการเกษตรยังเป็นศูนย์ หวนคิดถึงเพื่อนสนิทที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จึงได้ไปขอคำแนะนำ จึงเป็นจุดเริ่มของการเรียนรู้ภายในศูนย์ศึกษาฯ ซึ่งมีจุดสาธิตทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ จุดที่สร้างแรงบันดาลใจและสร้างความหวังคือแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ที่คิดว่าน่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตน แทนที่จะปลูกโกโก้เพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างแหล่งอาหาร ลดรายจ่าย ที่เหลือคือโอกาสในการสร้างรายได้ จากการที่ได้เรียนรู้มา จึงใช้พื้นที่ที่เป็นต้นทุนเดิมที่มีคือบ่อเลี้ยงปลามาใช้ประโยชน์เติมเต็มกิจกรรมลงไป โดยศูนย์ศึกษาฯ เป็นผู้ให้แนวคิด ให้องค์ความรู้ และปัจจัยการผลิต เช่นการปลูกผักเชียงดาและการแปรรูป การปลูกตะไคร้แซมระหว่างต้นโกโก้ การเลี้ยงปลาดุก ปลูกกล้วยเพื่อให้เป็นพืชพี่เลี้ยง และมีมะเขือ พริก เริ่มลงมือปฏิบัติราวเดือนกันยายน 2563 แม้ผลผลิตยังไม่โตเต็มที่ทั้งหมด แต่ก็ยังมีรายได้ที่เป็นผลผลิตจากตะไคร้ประมาณกว่า 14,000 บาท ภายในระยะเวลา 6 – 8 เดือนที่ผ่านมา ผักเชียงดาก็เริ่มได้ขายบ้างแล้วยอดกิโลกรัมละ 100 บาท ใบแก่กิโลกรัมละ 125 บาท จึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากผักเชียงดามาทำชาเชียงดาในลักษณะโอท็อปเพิ่มเติมอีกด้วย” แม้ผลผลิตยังผลิดอกออกผลไม่ได้เต็มที่เพราะต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าชีวิตของทั้งคู่ได้เดินมาถูกทางแล้วบนความมั่นคงและยั่งยืน และนี่คือบทสรุปของการพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐานและแนวทางไว้เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นกลไกในการพัฒนาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังคงทำหน้าที่ในการสืบสานแนวพระราชดำริ รักษาโครงการต่างๆ และต่อยอดการพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนให้มีความมั่งคงในการดำเนินชีวิต ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สืบไป กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.