ในยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัล มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กไทยให้ก้าวทันสู่โลกของการเปลี่ยนแปลง เด็กจึงจำเป็นต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตเป็นพลเมืองที่มีทักษะในการเรียนรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยี Technology Digital หรือ Digital literacy เป็นศัพท์ที่คุ้นเคยซึ่งหมายถึง ทักษะในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่อยู่ในปัจจุบัน ทั้งโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไอแพด โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่สื่อออนไลน์ผ่านเฟชบุ๊ค ไลน์ ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และติดต่อสื่อสาร การทำงานร่วมกัน เด็กไทยยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า เด็กเจเนอเรชั่นแซด เป็นกลุ่มเด็กที่เกิดมาท่ามกลางความเจริญของสื่อออนไลน์มีวิถีชีวิตการเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กมีความจำเกี่ยวกับภาพ และสามารถประมวลผลข้อมูลจากภาพได้ดีกว่า ข้อความตัวหนังสือ สามารถแยกข้อมูลภาพและเสียงได้ดีกว่าคนยุคเก่า ชอบมองภาพที่มีสีสันสดใสที่กระตุ้นความสนใจมากกว่าสีมืด ๆ ทึม ๆ การพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่า ปัจจุบันมีผลของการวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบของการดำเนินชีวิตของเด็กไทยเจเนอเรชั่นแซด โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มเด็กสมัยนิยม (Modern kid) ชื่นชอบการใช้เทคโนโลยีในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อความบันเทิงและความสนุกสนาน กลุ่มที่ 2 กลุ่มเด็กกระตือรือร้น (Active kid) ชื่นชอบการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การเล่นกีฬา และอ่านหนังสือ กลุ่มที่ 3 กลุ่มเด็กชอบสังคม (Sociable kids) ให้ความสำคัญกับครอบครัว เพื่อน และชอบทำกิจกรรมกับครอบครัวและเพื่อน กลุ่มที่ 4 กลุ่มเด็กช่างฝัน (Dreamy kid) ชื่นชอบกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และส่งเสริมจินตนาการ และมีโลกส่วนตัวสูง กลุ่มที่ 5 กลุ่มเด็กฉลาด (Smart kid) ชื่นชอบกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาไหวพริบทางสติปัญญา กลุ่มที่ 6 กลุ่มเด็กเมือง (Urban kid) ใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไปที่อาศัยอยู่บริบทในเมือง และกลุ่มที่ 7 กลุ่มเด็กอยากรู้อยากเห็น (Curious kid) ชื่นชอบการเสริมสร้างความรู้ และประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับตนเอง อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ไม่ใช่การจัดกลุ่ม แต่คือโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต้องมีกระบวนการทำงานภายใต้การเรียนรู้ทางสังคม ต้องทำงานแบบ 3 ประสาน คือ ครู ผู้ปกครอง และเด็ก เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทัศนคติซึ่งกันและกัน เปิดใจยอมรับในกระแสของสื่อออนไลน์ เทคโนโลยีดิจิทัลทางการศึกษาที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) เป็นโปรแกรมสมองกลแสนฉลาดมีวิธีการทำงาน เหมือนสมองมนุษย์หรือจักรกลอัจฉริยะที่สามารถคิดวิเคราะห์วางแผน ตัดสินใจ และเลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เปรียบเสมือนหุ่นยนต์มนุษย์สามารถประมวลผลจากฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากคลังขนาดใหญ่ และแสดงผลในสิ่งที่เราต้องการเพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น ซึ่งเร็วกว่ามนุษย์แบบเทียบไม่ติด ซึ่งในปัจจุบันนี้เด็กไทยจัดอันดับให้ AI และ IoT เป็นนวัตกรรมสื่อเทคโนโลยีที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อของเด็กให้เข้ากับเพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน ช่วยยกระดับสุขภาพทางร่างกาย และจิตใจ เสริมความสามารถ เพิ่มโอกาสการจ้างงานมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตในอนาคตเป็นอย่างมาก และมีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเทคโนโลยี AI จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการใช้ชีวิตของเด็กไทยในอนาคต อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตัวผู้เรียน (เด็ก) และพัฒนาตัวผู้สอน (ครู)ไว้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีความสนใจและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Technology Digital เพื่อให้รู้เท่าทันเด็กไทยยุคเจเนอเรชั่นแซด โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาตนเอง เปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชุมชนการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น และปรับ Mindset ต่อการเข้าถึง Technology เพื่อที่จะประยุกต์ใช้ให้ทันต่อเด็กไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล บทความโดย ธนพรรณ เพชรเศษ อาจารย์หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและสาขาวิชาการประถมศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี