“ผ้าฝ้ายย้อมคราม” ถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน มีกระบวนการขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญโดยเฉพาะการย้อมสีผ้าจากต้นครามกับเส้นด้ายอย่างปราณีต สวยงาม ดังนั้น ต้นคราม จึงต้องได้รับการดูแลที่ดี หากเป็นไปตามธรรมชาติใช้สารวัตถุดิบแบบอินทรีย์ พร้อมกับการพัฒนาการตลาดไปพร้อมกัน ก็จะส่งผลดีในการช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่วิสาหกิจชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัลยาณี กุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เริ่มต้น “โครงการการยกระดับผ้าฝ้ายย้อมครามอินทรีย์สู่ eco indigo products เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ย้อมครามธรรมชาติ” โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผศ.กัลยาณี กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า จุดเริ่มต้นมาจากงานวิจัยก่อนหน้า ที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดสกลนคร โดยได้สำรวจกลุ่มผู้ผลิตต้นคราม พบว่า วัตถุดิบในการทำ “ครามเปียก” ที่มาจากการหมักใบต้นครามตามภูมิปัญญาชาวบ้าน มีราคาขายส่งเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งกว่าจะได้ครามเปียกแต่ละ 1 กิโลกรัมนั้นก็ต้องใช้วัตถุดิบที่เยอะมาก “ในฐานะนักวิจัยก็มีความคิดว่า จะทำอย่างไรให้วัตถุดิบนั้นมีราคาที่สูงขึ้น ถูกยกระดับขึ้นมาจากเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการปลูก มีการดูแลอย่างเข้มข้น และช่วยลดต้นทุนสำหรับวิสาหกิจชุมชนได้อีกด้วย” ผศ.กัลยาณี กล่าว ดังนั้นจึงได้เริ่มวิธีการดำเนินโครงการ โดยเริ่มศึกษาวิจัยใน 2 พื้นที่คือที่บ้านอูนดง และบ้านเชิงดอย ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีรูปแบบดินที่แตกต่างกัน เพื่อดูว่าวิธีการผลิตจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรระหว่างพื้นที่นากับพื้นที่ดอน พร้อมกันนี้ ยังได้ปลูกฝ้ายในระบบอินทรีย์ทั้งสองพื้นที่ ควบคู่กับการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชน ให้รู้จักการปลูกครามและฝ้ายแบบอินทรีย์ให้มากขึ้น จากการลงพื้นที่สำรวจดินในพื้นที่บ้านเชิงดอยพบความเสียหายจากการปลูกพืชซ้ำ ๆ และใช้ปุ๋ยเคมี ส่งผลให้เกิดค่าความเค็มในดิน มีกรดสูง ค่าสารอินทรีย์ในดินมีน้อย และ ค่า NPK ต่ำ ทำให้ต้องเริ่มการบำรุงดิน และปลูกคราม รอบแรกเก็บผลผลิตได้ 530 กิโลกรัม ผลิตครามเปียกได้ 70 กิโลกรัม เก็บฝ้ายได้ประมาณ 20 กิโลกรัม ส่วนพื้นที่บ้านอูนดงซึ่งเป็นพื้นที่นา ได้ผลผลิตครามเปียก 50 กิโลกรัม แต่ใช้พื้นที่น้อยกว่า ทั้งนี้ ได้กำหนดการปลูกตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นการรับรองแบบมีส่วนร่วม เพื่อรับรองว่าเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์จริง พร้อมส่งผลงานไปยังสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อตรวจค่าโลหะหนัก ความเป็นกรด-ด่าง เพื่อให้รับรองตามฉลากสิ่งแวดล้อม หรือ ECO-LABELLING อีกด้วย ในอนาคตหากได้รับการรับรองจากทั้งสองรูปแบบแล้ว ก็จะนำมาให้ผู้บริโภคได้ทดสอบสวมใส่ต่อไป เหตุผลที่เลือกพื้นที่เหล่านี้ เนื่องจากบ้านเชิงดอย ประชาชนมีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก แต่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน แม้จะมีการปลูกครามเป็นจำนวนมาก แต่กลับขายไม่ได้ราคาที่สูงนัก ส่วนหนึ่งมาจากการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา จึงเห็นว่าหากเกษตรกรได้รับการพัฒนาวิธีการปลูก หรือได้รับการรับรอง ECO-LABELLING ก็จะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนของหมู่บ้านแห่งนี้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนการเลือกพื้นที่หมู่บ้านอูนดงนั้น เพราะเป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่ ยอมรับวิธีการทำผ้าฝ้ายย้อมครามที่หลากหลาย หากทำให้มีผ้าฝ้ายย้อมครามจากการปลูกแบบอินทรีย์ได้ ก็จะเพิ่มช่องทางการขายได้มากขึ้น และเชื่อมต่อไปยังร้าน "ครามสกล" เพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่มาจากการปลูกแบบอินทรีย์ส่งไปขายต่างประเทศ พร้อมกันนี้ ยังได้ออกแบบลายผ้าย้อมครามให้มีความทันสมัยมากขึ้น จากนั้นให้วิสาหกิจชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกลายผ้า เพื่อผลิตผ้าฝ้ายย้อมครามอินทรีย์ต้นแบบ “มองว่าโครงการนี้ จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งด้านของสุขภาพ ที่ลดการใช้ยาฆ่าแมลง งดการใช้สารเคมีในการผลิต รวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีผลดีในระยะยาว เพราะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ เป็นกระบวนการที่ให้วิสาหกิจชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ได้มาเรียนรู้กระบวนการปลูกแบบอินทรีย์ได้ สิ่งที่สำคัญคือช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ได้จากการปลูกแบบอินทรีย์” ผศ.กัลยาณี กล่าวทิ้งท้าย