ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นถิ่น หรือเครื่องประดับจากผ้า เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการพัฒนา และยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนตามนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยผ้าทอพื้นเมืองที่ทอและแปรรูป จึงนับได้ว่าเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นสาขาหนึ่งในเจ็ดสาขาตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดไว้ คือ สาขาภูมิปัญญาไทย เนื่องจากผ้าทอพื้นถิ่นจะมีความแตกต่างกันตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของแต่ละพื้นที่ ทั้งเนื้อผ้า ลวดลาย วิธีการ นายสุริยนต์ สูงคำ เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวา ในการส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นถิ่นของมทร.ล้านนาที่ผ่านมา ทำให้ทราบปัญหา นำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ทั้งการพัฒนาคุณภาพของกระบวนการผลิต จนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์สินค้าให้มีความหลากหลาย การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แต่การดำเนินการดังกล่าวยังขาดมิติที่เชื่อมการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าประเภทผ้าและสิ่งทอ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นการเกิดห่วงโซ่คุณค่าใหม่ในผลิตภัณฑ์ และจากการวิเคราะห์สถานการณ์ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พบว่า งานต้นน้ำ ที่ปลูกฝ้าย มีต้นทุนการผลิตที่สูง กระบวนการสกัดสีย้อมเส้นด้ายฝ้าย มีกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยาก ใช้เวลานาน ส่วนงานกลางน้ำ พบว่า ต้นทุนการทอเส้นด้ายเป็นผืนผ้าสูง วัตถุดิบขาดคุณภาพ (แข็ง หยาบ) ไม่เหมาะสมที่จะนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์กลุ่มผู้ประกอบการทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเป็นเสื้อสำเร็จรูป โดยผ้า 1 ผืน ต้นทุนสูง แต่ขายในราคาถูก ซึ่งทำให้มีรายได้ที่ไม่สูง ในกระบวนการผลิตและแปรรูปมีเศษวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการ ส่วนงานปลายน้ำ พบว่า ด้านบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการมากกว่า 50% ไม่มีบรรจุภัณฑ์ กรณีของกลุ่มที่มีบรรจุภัณฑ์ หีบห่อไม่สวยงามและทันสมัย ด้านการตลาด มีการแข่งขันค่อนข้างสูง การตั้งราคาของแต่ละกลุ่มไม่สอดคล้องกับต้นทุนของสินค้า ทำให้ประสบปัญหาทางการเงินจนเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยกรณีออนไลน์ มีปัญหาเรื่องการอัพเดตข้อมูลผลิตภัณฑ์และการจัดวางรูปแบบ สื่อ ส่วนกรณีออฟไลน์ พบว่าการตกแต่งหน้าร้าน ยังขาดข้อมูลข่าวสารเพื่อร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจัดห่วงโซ่อุปทานการค้าที่เป็นธรรม นายสุริยนต์ กล่าวอีกว่า หลักการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้า และสิ่งทอ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการขายสินค้าหัตถกรรม เพราะผู้ซื้อมักจะไม่ชอบความจำเจ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าหัตถกรรมแต่ละชนิด ย่อมจะแตกต่างกันไป ตามลักษณะเฉพาะตัวของสินค้า โดยสินค้าที่มีประโยชน์ทางด้านการใช้สอย จะต้องมีรูปแบบใหม่สวยงามและจะต้องมีความคงทนด้วย ส่วนสินค้าที่เป็นของที่ระลึก จะต้องเน้นถึงวัสดุใช้สอยในท้องถิ่นนั้น ๆ แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ คุณค่าความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น สินค้าประเภทที่ใช้ในด้านการตกแต่งและเครื่องประดับชนิดต่างๆ จะต้องเน้นทั้งในด้านความงดงามของศิลปะ และรูปแบบซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม รูปแบบให้มีความแปลกใหม่ มีการนำเอาเทคนิคการผลิตสมัยใหม่ รวมทั้งเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดี และต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงจนเกินไป จึงนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย ของใช้และเครื่องประดับ ภายใต้แบรนด์ Lanna Cotton Craft ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นการผนึกกำลังในทางการตลาด เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า ซึ่งจะส่งผลดีด้านยอดขายและจะส่งผลดีต่อชื่อเสียงของแบรนด์ โดยให้โอกาสกลุ่มผู้ประกอบการทั้ง 11 กลุ่ม เข้าร่วมนำสินค้าที่ผลิตตามงานต้นแบบเข้ามาจำหน่าย เป็นการสร้างเสริมโอกาสให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างมีศักยภาพและมีความสามารถในการทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนตลาดออฟไลน์ ได้ทดสอบการจำหน่ายในงานแฟร์ที่จังหวัดจัดขึ้น งานจัดแสดงสินค้า ที่กรุงเทพมหานคร งานบ้านและสวน งาน Crafts Bangkok 2020 โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ที่เป็นตลาดเฉพาะสินค้าจากธรรมชาติเท่านั้น ผลการทดสอบตลาดพบว่าลูกค้าให้ความสนใจและซื้อผลิตของ Lanna Cotton Craft โดยมียอดจำหน่ายรวมถึง1,550,720 บาท สำหรับผูู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอ สามารถติดต่อมาได้ที่ 5 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.lannacottoncraft.com 2.Facebook Page : lanna cotton crafts 3.Instagram : lanna cotton craft 4. Pinterest : www.pinterest.com/lannacottoncraft และ 5. Line@ lannacottoncraft