“พื้นที่ตรงนี้หน้าฝนน้ำท่วม หน้าแล้งน้ำขาดแคลน การประกอบอาชีพเดือดร้อนมาก ทำนา ทำไร่ วัว ควาย ไม่มีน้ำกิน ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ประมาณ 2,500 คน ได้รับความเดือดร้อน” นายพนม เหมือนฤทธิ์ สารวัตรกำนัน ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เล่าให้ฟังถึงความลำบากที่ผ่านมา และบอกว่า “ถ้าฝายทดน้ำบ้านรางเข้พร้อม ระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี แล้วเสร็จ 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 9, 7, 3 ,11 และ หมู่ที่ 15 จะมีน้ำใช้เพียงพอ ทำไร่ ทำนาจะได้ผลผลิตดี จะมีรายได้ต่อครัวเรือนกว่า 40,000 ถึง 50,000 บาทต่อปี ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น ฝายตัวนี้เป็นโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้ชาวบ้าน รู้สึกดีใจที่พระองค์ไม่ทอดทิ้งพสกนิกร โครงการพระราชดำริดีมาก และโครงการของรัชกาล 10 ที่ทำต่อมีหลายโครงการ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มีน้ำอุดมสมบูรณ์ขึ้น”

สำหรับโครงการฝายทดน้ำบ้านรางเข้ฯ นั้น นายเศกสิทธิ์ โพธิ์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน เผยว่า เป็นหนึ่งใน 24 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2533 เพื่อบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำลำตะเพินที่มีต้นน้ำอยู่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ไหลผ่าน อ.หนองปรือ อ.บ่อพลอย และ อ.เมืองกาญจนบุรี ก่อนไหลลงแม่น้ำแควใหญ่ รวมระยะทาง 167 กิโลเมตร โครงการที่ดำเนินการไปแล้วมีอ่างลำตะเพิน อ่างห้วยกระพร้อย และ อ่างห้วยตะกวด อยู่ระหว่างดำเนินการ 2 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะกึง ผลงานอยู่ที่ 23% และอ่างห้วยป่าไร่ ผลงานอยู่ที่ 22% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2567 ส่วนฝายทดน้ำบ้านรางเข้ฯ มีบานระบาย ขนาด 6 X 6 เมตร จำนวน 5 ช่อง  ก่อสร้างปี 2562 โดยใช้งบ กปร. (คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) จากนั้นใช้งบประมาณปกติของกรมชลประทาน ตอนนี้ผลงานอยู่ที่ 53% ตัวฝายแล้วเสร็จปี 2565 ส่วนแผนงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำจะดำเนินการในปี 2566 - 2567 มีพื้นที่รับประโยชน์อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำลำตะเพิน 3,500 ไร่ โดยการส่งน้ำผ่านทางท่อเป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร ส่วนฝั่งขวาจะมีการดำเนินการต่อไป

“ราษฎรจะมีส่วนร่วมในการทำงานทุกขั้นตอน มีการประชุมระดมความเห็นให้ราษฎรเข้ามาทำงาน ในโครงการฯ ระหว่างก่อสร้าง ทำให้รับรู้ถึงแนวทางและวิธีการในการบริหารจัดการน้ำอย่างถูกวิธีและทั่วถึง ต่อไปจะจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นธรรมด้วย น้ำที่อยู่หน้าฝายตอนนี้เริ่มได้ใช้แล้ว”

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตาม และขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการฯ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโดยรับฟังบรรยายสรุปจากผู้แทนสำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน พบว่าการดำเนินงานคืบหน้าตามเป้าหมายทุกประการ เป็นที่พึงพอใจของราษฎรเป็นอย่างดี

นางอุสา จินดารัตน์ ราษฎรบ้านหนองตาพุก ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เผยว่า เมื่อก่อนแห้งแล้งมาก เพราะเป็นที่ราบเนินเขาไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีระบบชลประทาน ถึงฤดูฝนน้ำท่วม พอถึงหน้าแล้งไม่มีน้ำ น้ำหน้าฝนที่ตกมาไหลลงแม่น้ำแควหมด “ดีใจที่มีโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะมีโอกาสได้ใช้น้ำ เมื่อมีน้ำก็จะปลูก ผักชีเพิ่ม นอกจากปลูกอ้อยและทำนา ขอขอบพระคุณในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้เกิด โครงการนี้ และรัชกาลที่ 10 ที่ทรงสืบสานโครงการพระราชดำริต่อ ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสทำกินได้มากขึ้น”

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริแก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. ณ อาคาร ชัยพัฒนาพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปความว่า ควรพัฒนาลุ่มน้ำห้วยตะเพิน จ.กาญจนบุรี และ จ.สุพรรณบุรี โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่ตอนบนห้วยตะเพิน เขต อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี พร้อมสร้าง ฝายทดน้ำท้ายอ่างฯ เป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกของราษฎรในช่วงขาดแคลนน้ำ และบรรเทาอุทกภัย ในช่วงน้ำหลาก และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาของห้วยตะเพิน ในเขต อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และเขต อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เพื่อให้ราษฎรมีน้ำเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี

สำนักงาน กปร. และกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ โดยดำเนินโครงการดังกล่าวฯ เมื่อแล้วเสร็จทั้งระบบ จะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนได้ 3,500 ไร่ ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีปริมาณเพิ่มขึ้นและเกิดความ หลากหลายในการพัฒนาอาชีพ อันจะนำมาซึ่งรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป