สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนออมทรัพย์บ้านทุ่งยาว จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ได้วางเป้าหมายมุ่งพัฒนาชีวิตพี่น้องประชาชนในชุมชนเพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยการสร้าง 4 ดี คือ "สร้างคนที่มีคุณธรรมและจิตตารมณ์ดี  สร้างอาชีพดี  สร้างชุมชนสิ่งแวดล้อมดี และสร้างสหกรณ์ดี" นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของครัวเรือนที่ดีขึ้นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในระดับองค์กรสหกรณ์เองและครัวเรือนของสมาชิก รวมถึงการส่งเสริมอาชีพยั่งยืนตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หนุนชุมชนพึ่งตนเอง เสริมความแข็งแกร่งพลังชุมชนพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น สังคม และสิ่งแวดล้อม  ท้ายสุดนำชุมชน ไปสู่สังคมแบ่งปัน

นายมนูญ สุขรัตน์ ประธานกรรมการสหกรณ์ฯ กล่าวว่า ปณิธานในการทำงานของสหกรณ์มีเป้าหมายตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ให้ชุมชน สังคม ประเทศชาติ เรามุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ดูแลชุมชนและเกษตรกรให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ  ด้านรายได้ พึ่งตนเองและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นนโยบายของรัฐบาล และยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการส่งเสริมอาชีพและโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่สหกรณ์ดำเนินการส่งผลเชิงบวกทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการสร้างฝายธรรมชาติระดับชุมชนให้มีน้ำใช้ตลอดปี โครงการสนับสนุนและมอบความรู้การผลิตทางการเกษตรปลอดภัยเกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสานสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรสมาชิกและลูกหลาน โครงการส่งเสริมการออมและลงทุนภาคครัวเรือน  โครงการบริหารจัดการตลาดผลผลิตเกษตรและพัฒนาช่องทางตลาดโดยนำกำลังซื้อเข้าสู่ชุมชน รวมถึงการตลาดทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ โครงการเติมเต็มสวัสดิการและการสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชน ฯลฯ  ทำให้บุตรหลานสมาชิกได้เรียนหนังสือจนสำเร็จในระดับอุดมศึกษา มีบ้าน มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

และท้ายสุดเกิดผลสัมฤทธิ์ คือ สังคมแบ่งปัน จากการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติ ร่วมตรวจสอบ/ปรับปรุง  ร่วมแบ่งประโยชน์กัน ภายใต้จิตสำนึกที่เห็นใจกัน ห่วงใยกัน แบ่งปันกัน ดูแลรับใช้กัน  ผ่านกิจกรรมโครงการต่างๆทำให้เกษตรกรและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  การลดรายจ่าย  ส่งเสริมการออม เรียนรู้การลงทุน ช่วยบรรเทาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและเกษตรกรสมาชิกกว่า 1,000 คน ให้ดีขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจทั้งจากของสหกรณ์และครัวเรือนสมาชิกเองประมาณ 500 ล้านบาท/ปี มีฝายธรรมชาติในชุมชน 278 แห่ง

นอกจากนี้การรวมกลุ่มเพื่อจัดการอาชีพ ยังเกิดกลุ่มอาชีพใหม่ๆ สามารถเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดความรู้และขยายผลต่อเนื่องรวมถึงเกษตรกรได้เรียนรู้วินัยในการออมเงินและรู้จักนำเงินที่ออมไปลงทุนให้เกิดรายได้ทั้งลงทุนการประกอบอาชีพ การถือหุ้นในสหกรณ์ การฝากเงิน  ด้วยความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่คำนึงถึงสังคม วิถีชุมชน ผลกระทบต่อชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อมทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนักและพัมนาตนเองบนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจท้องถิ่นและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร/ราษฎในชุมชน  สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเติบโตได้อย่างยั่งยืน  สหกรณ์/ชุมชนได้รับคัดเลือกและมอบรางวัลเชิดชูเกียรติมากมายทั้งในระดับจังหวัด  ระดับภาค และระดับชาติ

และในปี 2565 นี้ สหกรณ์ได้รับคัดเลือกส่งเข้าประกวดสหกรณ์ที่ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับองค์กรและครัวเรือนสมาชิกของกรมส่งเสริมสหกรณ์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์ยังได้ร่วมจัดโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเทิดทูนสถาบันหลักของชาติในหลายกิจการ เช่น การสร้างฝายธรรมชาติ การอนุรักษ์ป่า การพัฒนาถนนสาธารณะ รวมถึงในปีนี้สหกรณ์ได้รับประสานจากศูนย์ประสานงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปนย. จชต.) ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5)  กองอำนวยการรักษาความปลอดภัย ในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นำคณะนายทหารทั้งจากกองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ส่วนกลาง เข้าศึกษาดูงาน เพื่อเป็นตัวแบบในการสร้างกลุ่ม/องค์กร/ชุมชนเข้มแข็ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามขั้นตอนการพัฒนาจากกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ พอมี พอกิน มีเหลือแบ่งปัน  สู่กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการค้าและแบ่งปัน                   

และท้ายสุดสู่กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการอนุรักษ์และแบ่งปัน ที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับฐานราก สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนเสริมศักยภาพการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ผ่านมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม