สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอฟพีเอ ออกมาประเมินจำนวนประชากรโลกครั้งล่าสุดว่า จะมีจำนวน 8,000 ล้านคนในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 1950 (พ.ศ. 2493) หรือเมื่อ 72 ปีก่อน ที่ในขณะนั้นมีจำนวนราว 2,500 ล้านคน

โดยยูเอ็นเอฟพีเอ ระบุด้วยว่า อัตราการเพิ่มของประชากรโลกจำนวนมากที่สุดมีขึ้นเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 โดยคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.1 ต่อปี ในระหว่างช่วงปี 1962 – 1964 (พ.ศ. 2505 – 2507) ก่อนที่จะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2020 (พ.ศ. 2563) พร้อมกันนี้ ทางยูเอ็นเอฟพีเอ ยังคาดการณ์ด้วยว่า อัตราการเพิ่มของประชากรโลกจะลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) อย่างไรก็ตาม จากการที่ประชากรโลกมีแนวโน้มที่อายุขัยเพิ่มขึ้นและอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กทารกเกิดใหม่ลดลง ก็จะทำให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ประชากรโลกจะมีจำนวน 8,500 ล้านคน และ 9,700 ล้านคน ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) กระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษที่ 2080 จะมีจำนวนมากกว่า 1 หมื่นล้านคนที่ 10,400 ล้านคน

ทางด้าน บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ ในสหรัฐฯ แสดงทรรศนะว่า เมื่อโลกเรามีประชากรเป็นจำนวนมาก จะส่งผลต่อทรัพยากรต่างๆ บนโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด ว่าจะเพียงพอต่อการบริโภคใช้สอยกันหรือไม่?