ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ในขณะที่เขียนต้นฉบับนี้อยู่ ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีรายงานเป็นทางการ แต่ก็เป็นการแข่งขันที่สูสีกันมาก แม้ว่าโพลจะพยากรณ์ว่าพรรครีพับลิกัน จะได้ครองเสียงข้างมากอย่างเฉียดฉิวในสภาผู้แทนราษฎร แต่เท่าที่ยังมีการทยอยรายงานผล มันมีสัญญาณดีสำหรับพรรคเดโมแครตว่ายังมีความหวังที่จะครองเสียงข้างมากอยู่ และอาจจะไม่เป็นไปตามการพยากรณ์ของสำนักวิเคราะห์ต่างๆ ทั้งนี้เพราะในสภาผู้แทนราษฎรนี้ เดโมแครตก่อนเลือกตั้งมีเสียงเกินกว่าครึ่งอยู่ และมากกว่ารีพับลิกัน 8 ที่นั่ง แต่ผลนับคะแนนเสร็จไปแล้ว 301 จาก 435 ที่นั่ง เดโมแครตได้ 132 ที่นั่ง แพ้ 4 ที่นั่ง ส่วนรีพับลิกันได้ 164 ที่นั่งชนะ 2 ที่นั่ง

ส่วนผลที่น่าติดตามมากที่สุด คือวุฒิสภาที่ทั้ง 2 พรรคมีคะแนนเท่ากันอยู่ก่อน คือ 50:50 แต่มีเสียงรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส 1 เสียง ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา จึงมีเสียงข้างมาก ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้หากเดโมแครตแพ้ 2 ที่นั่งขึ้นไป เสียงข้างมากก็จะตกอยู่กับรีพับลิกันทันที

แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร การเมืองของสหรัฐฯก็มาถึงจุดแตกแยกครั้งสำคัญ เพราะมีกระแสของความขัดแย้งที่รุนแรง

ประการแรกถ้าเดโมแครตยังครองเสียงข้างมากในสภาล่าง และวุฒิสภา แต่มีแนวโน้มว่าจะเฉียดฉิวมาก ก็ใช่ว่าไบเดนจะทำอะไรได้ตามใจทั้งการบริหารภายในและต่างประเทศ

เพราะมีส.ส. และ ส.ว. ของพรรคเดโมแครต หลายคนไม่เห็นด้วยกับนโยบายทุ่มทุนสนับสนุนสงครามในยูเครน และต้องการให้นำงบประมาณเหล่านั้นมาแก้ปัญหาภายในประเทศ เช่น การช่วยเหลือคนระดับล่างที่ประสบกับปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง และปัญหาคนไร้บ้านที่มีหลายรัฐกำลังประสบปัญหาและต้องการการช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง

ประการที่ 2 ถ้ารีพับลิกันกลายเป็นเสียงข้างมากทั้ง 2 สภาหรือแม้แต่สภาใดสภาหนึ่ง ไบเดนจะประสบกับอุปสรรคในการบริหารงานทันที โดยเฉพาะถ้าแพ้ทั้ง 2 สภา รัฐบาลของไบเดนก็จะกลายเป็นเป็ดง่อยในทันที

อย่างไรก็ตามแม้การเลือกตั้งกลางเทอมจะผ่านไปก็ใช่ว่าความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯจะบรรเทาลง ตรงข้ามมันจะเพิ่มขึ้นและจะทวีความรุนแรงไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยหน้า

ที่ชัดเจนคือ แนวคิดเหยียดผิวและขวาสุดโต่ง ภายใต้การนำของทรัมป์จะทวีความเข้มข้นขึ้น เพราะมีการปลุกระดมมาเป็นระยะ รวมทั้งความเชื่อที่ว่าโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครตโกงการเลือกตั้ง ที่ถูกจุดประเด็นโดยทรัมป์

ปัญหาของพรรครีพับลิกันก็คือ การที่จะส่งคนมาเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี ถ้าไม่เอาทรัมป์ ซึ่งอาจมีตัวเลือก เช่น ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ที่พึงได้รับเลือกตั้งกลับมาใหม่ นาย Ron De Santis โดยมีความเป็นไปได้ว่าถ้าพรรคตัดสินใจเลือกคนอื่นแทนทรัมป์ ทรัมป์ก็อาจประกาศสมัครเลือกตั้งในนามอิสระ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดการแตกแยกในพรรค และคะแนนก็จะถูกลดทอน จากการแยกตัวของทรัมป์

ปัญหาของพรรคเดโมแครต ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า โจ ไบเดน มีอายุมากแล้ว และสุขภาพก็ไม่สู้ดี โดยเฉพาะความจำ ดังนั้นหากโจ ไบเดน ตัดสินใจไม่ลงสมัครเป็นสมัยที่ 2 ก็อาจไม่มีปัญหามาก เพราะพรรคมีระบบคัดสรรคนที่จะมาเป็นผู้สมัครแทนอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าคงจะไม่ใช่รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส เพราะอาจติดปัญหาเรื่องเชื้อชาติ แต่ก็ไม่แน่อะไรก็เกิดได้ ดูอย่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เชื้อสายอินเดียเป็นตัวอย่าง

แต่ถ้าโจ ไบเดน ตัดสินใจลงเลือกตั้งต่อ อาจทำให้คะแนนในสาธารณะตกลง เพราะคนอเมริกันเริ่มไม่มั่นใจในความมีอายุและสุขภาพของท่านว่าจะรับงานหนักต่ออีกสมัยได้หรือเปล่า

ทว่าผลกระทบของการเลือกตั้งกลางเทอมนี้ ยังมีผลต่อการเมืองระหว่างประเทศ และนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่มีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลก

ประการแรก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแนวโน้มที่จะทำให้สหรัฐฯมีบทบาทที่เข้มข้นมากขึ้นในการเมืองระหว่างประเทศ และการกระชับอำนาจตามระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐฯกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจน ว่าการจะรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติไว้ได้ ก็ต้องกระชับอำนาจในการจัดระเบียบโลกใหม่ให้ได้

ดังนั้นจีนจึงเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆที่สหรัฐฯจะสร้างแรงกดดัน เช่น เรื่องไต้หวัน เรื่องอุตสาหกรรมไฮเทคและสงครามการค้า

อีกประเทศที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะต้องแสดงบทบาทที่ต้องเผชิญหน้าอย่างดุดัน คือ รัสเซีย แม้ว่าจะมีข่าวจากวอชิงตันโพสต์ออกมาว่า สหรัฐฯอยากให้ยูเครนเปิดการเจรจากับรัสเซียเพื่อยุติศึก แต่ดูแล้วคงยาก เพราะยูเครนตั้งเงื่อนไขที่รัสเซียคงไม่ยอมรับ คือ ให้รัสเซียถอนทหารทั้งหมดออกจากดินแดนยูเครน และชดใช้ความเสียหายทั้งหมดให้ยูเครน

เรื่องยูเครนจึงจะยังคงประเด็นความขัดแย้ง ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียต่อไป จนอาจบานปลายไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ โดยเฉพาะถ้ายูเครนไปสร้างวีรกรรมทำระเบิดกัมมันตภาพรังสี (Dirty Bomb) เพื่อกล่าวหารัสเซีย และเรียกร้องให้ตะวันตกใช้อาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย

ที่สำคัญประเด็นเรื่องการเผชิญหน้ากับรัสเซียจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ในการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้า เพราะถ้าทรัมป์ได้เป็นตัวแทนรีพับลิกัน เขาต้องยกประเด็นการเจรจากับรัสเซียเพื่อยุติศึกมาหาเสียง ซึ่งก็จะมีคนอเมริกันเห็นด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะมันเป็นภาระของคนอเมริกัน และชาวโลก ซึ่งถ้ายุติศึกได้หลายฝ่ายคงสบายใจขึ้น และเศรษฐกิจโลกก็น่าจะฟื้นตัว ตามด้วยการคลี่คลายปัญหาพลังงาน และปัญหาขาดแคลนด้านอาหาร

แม้จะยังไม่ถึงวันนั้น เอาแค่รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก แม้ในสภาใดสภาหนึ่ง รัฐบาลไบเดน ก็จะถูกตัดงบ และจะมีการไต่สวน ที่อาจนำไปสู่ความพยายามจะปลดไบเดน ก่อนหมดวาระ เช่น เรื่องการถอนทหารจากอาฟกานิสถานอย่างไร้แผนที่ดี การจัดการเรื่องโควิด เรื่องคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และเรื่องลูกชาย Hunter Biden ที่มีการสมคบคิดทุจริตกับยูเครน ซึ่งเท่ากับเป็นการที่รีพับลิกันจะเอาคืนเดโมแครต เมื่อคราวที่พยายามจะปลดทรัมป์ แต่กระบวนการปลดก็เป็นแค่การด้อยค่าโจ ไบเดน เท่านั้น เพราะคงไม่มีทางที่จะให้ส.ว.อีก 67 เสียงเห็นด้วย เพื่อให้ได้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้

อีกประเด็นที่จะเกิดขึ้นหากรีพับลิกันได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือ อาจให้มีการระงับการสอบสวนทรัมป์กรณีจราจลที่สภาหลังเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

สรุปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งกลางเทอม มันก็จะนำมาสู่การไร้เสถียรภาพทางการเมือง และจะมีกระแสขวาจัดที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้สื่อต่างประเทศทั้ง Japan Times หรือ Der Spiegel ของเยอรมนี ต่างก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน และมองว่าสหรัฐฯไม่อาจเป็นที่พึ่งพาของพันธมิตรได้