ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ในด้านหนึ่งอาเซียนทั้ง 10 ประเทศสมาชิกกลายเป็นพื้นที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อขยายอิทธิพลของ 2 มหาอำนาจ ทั้งนี้สหรัฐฯต้องการให้พื้นที่นี้เป็นส่วนสำคัญในการปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีนออกไปยังภาคส่วนของหลายประเทศในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

ส่วนจีนก็อาศัยความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในการขยายอิทธิพลของตนด้วยพลังทางเศรษฐกิจ เข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนเพื่อเปิดทางไปสู่ภูมิภาคอื่น

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าอาเซียนในสภาพปัจจุบันมิได้มีเอกภาพในการร่วมมือปกป้องตนเองเพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันตามวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งองค์การนี้แต่แรก

ทว่าต้องเข้าใจว่าในอดีตนั้นอาเซียนก่อตั้งมาจากการรวมกลุ่มของประเทศเพียง 2-3 ประเทศที่มีไทยเป็นแกนนำ และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพื่อปกป้องตนเองจากอิทธิพลของจีน ในรูปองค์กรอื่นจาก SEATOสู่ สมาคม ASA จนพัฒนามาสู่การรวมตัวเป็น 10 ประเทศ และพยายามเป็นตัวของตัวเอง โดยคบหาทั้งกับจีนและสหรัฐฯ

แต่นานวันเข้าอาเซียนก็แตกออกเป็น 2 ขั้ว โดยส่วนหนึ่งที่เรียกว่าอาเซียนบก ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ต่างมีความโน้มเอียงไปทางจีน ส่วนไทยและเวียดนามยังมีสภาพเป็นกลางหรือไม่ชัดเจนนักในจุดยืน

ด้านอาเซียนทะเล ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และติมอร์-เลสเต ก็มีความโน้มเอียงที่จะอิงกับสหรัฐฯ

ล่าสุดความแตกแยกยิ่งชัดเจนเมื่อเมียนมา โดยมติของอีก 9 ประเทศ ไม่ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซียนที่กัมพูชา

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลทหารมิน อ่องหล่าย ไม่ยอมรับข้อเสนอของอาเซียนที่จะให้อาเซียนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพโดยให้ทุกฝ่ายในเมียนมาได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เมียนมาจึงแสดงปฏิกิริยาด้วยการจัดประชุมกับรัสเซียแบบคู่ขนาน

สัญญาณของความไม่มีเอกภาพของอาเซียนย่อมเป็นแนวโน้มที่ไม่สู้ดีของมวลสมาชิกในการที่จะร่วมกันสร้างอำนาจในการต่อรองและหากต้องแยกกันดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระ ประเทศไทยควรจะสร้างรูปแบบแนวนโยบายและจุดยืนอย่างไรดี

ตัวอย่างที่จะเป็นแนวทางในการวางนโยบายและวิเทโศบาย ของไทยที่น่าสนใจก็คงหนีไม่พ้นเวียดนาม ถึงแม้ว่าเวียดนามจะมีระบอบการเมืองที่แตกต่างจากไทย มีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันหลายประการ แต่ก็มีลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับไทยเป็นอย่างยิ่ง

เวียดนามมีการปกครองในระบอบสังคมนิยม อันมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นแกนนำในทางการเมือง และนี่ก็เป็นข้อดีของเวียดนามในการเชื่อมความสัมพันธ์กับจีนโดยอาศัยพรรคคอมมิวนิสต์ของทั้ง 2 ประเทศเป็นสื่อ ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม

โดยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2022 เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นายเหงียน พูตรอง ได้เดินทางไปพบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปักกิ่ง และได้ประสบความสำเร็จในความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างมาก ในขณะที่ต่างก็ดำเนินนโยบายสังคมนิยมที่เหมาะสมกับขนมธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆภายในประเทศของตน

ส่วนเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนตอนใต้นั้น เวียดนามกับจีนก็สร้างความเข้าใจร่วมกันที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว ด้วยการเจรจา 2 ฝ่าย โดยมองภาพรวมมากกว่าปัญหาปลีกย่อย เพื่อความสัมพันธ์ที่จะกระชับยิ่งขึ้น

ในเรื่องจุดยืนของเวียดนามเกี่ยวกับไต้หวันนั้น เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เน้นย้ำว่าเวียดนามจะไม่สนับสนุนการแบ่งแยกไต้หวัน และยึดมั่นในหลักการจีนเดียว

นอกจากนี้นายตรองยังยืนยันว่า เวียดนามจะไม่ยอมให้มีการตั้งฐานทัพของต่างชาติโดยเด็ดขาด และจะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศใดๆทั้งสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้นเวียดนามจะไม่ใช้กำลังไปรุกรานใครหรือทำงานร่วมกับประเทศอื่น เพื่อต่อต้านประเทศอีกขั้ว นั่นคือการยืนยันในความเป็นกลางของเวียดนาม

ในด้านเศรษฐกิจมูลค่าทางการค้าของทั้ง 2 ประเทศในปี ค.ศ.2021 สูงถึง 230.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพอๆกับมูลค่าที่เวียดนามค้าขายกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกัน

อย่างไรก็ตามเพื่อดำรงสถานะความเป็นกลางที่แข็งแกร่ง เวียดนามก็เปิดกว้างให้กับการลงทุนจากชาติตะวันตกที่กำลังหลั่งไหลไปลงทุนในเวียดนาม เพราะมีแนวโน้มที่ประเทศเหล่านี้จะถอนตัวจากการลงทุนในจีน เพราะความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้น

ประกอบกับเวียดนามมีความได้เปรียบเรื่องที่ตั้ง ทั้งการผลิตและการขนส่ง ตลอดจนกำลังแรงงานที่มีสัดส่วนของคนหนุ่ม-สาว ในระดับที่สูง ซึ่งสามารถชดเชยการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภค เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย

อย่างไรก็ตามในแง่ภูมิรัฐศาสตร์เวียดนามก็ระมัดระวังการมีบทบาทและอิทธิพลของจีนภายในประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะการรุกทางเศรษฐกิจ ด้วยนโยบาย GLOBAL DEVELOPMENT INITIATIVE ของจีน ซึ่งเป็นดาบ 2 คม โดยเฉพาะการเปิดช่องให้ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาครอบงำทางเศรษฐกิจ

ทว่าจุดแข็งของเวียดนาม คือ คนเวียดนามที่ขยันขันแข็ง และเข้มข้นในการรักษาประโยชน์ของชาติเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีประสบการณ์กับจีนมามาก ด้วยมีดินแดนติดต่อกัน จึงทำให้เวียดนามมีความมั่นใจที่จะสร้างสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับจีน โดยมีชาติตะวันตกหนุนหลังเพื่อจะต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้โดยให้การสนับสนุนเวียดนามในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในทางปฏิบัติ มิใช่เป็นเพียงวาทกรรม

ประเทศไทยคงต้องมีการทบทวนบทบาทในการสถาปนาความเป็นกลางที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยอาจศึกษาและปรับปรุงจุดอ่อน จุดแข็งจากเวียดนาม

ที่สำคัญไทยอาจร่วมมือกับเวียดนามในการกระตุ้นให้อาเซียนกลับมาร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง โดยการสร้างสมดุลระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติสมาชิกโดยรวม

เพราะถ้าเรารวมกันได้เป็นเอกภาพ เฉด้วยขนาดเศรษฐกิจเราก็มีประชากรไม่น้อยกว่า 500 ล้านคน และมีจีดีพีที่กำลังเติบโตในภูมิภาค ตลอดจนมีทรัพยากรที่หากร่วมมือกันในลักษณะซัพพลายเชน ก็จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันเป็นหลักยึดมั่น อาเซียนก็จะเป็นตัวอย่างของความเป็นกลาง ที่เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ขั้วอำนาจ