สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมศาสตราจารย์เผิง ลี่หยวน ภริยา มีกำหนดเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting: AELM) และเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน 2565

ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมการประชุมเอเปคในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีกำหนดหารือข้อราชการกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และร่วมเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันซึ่งนายกรัฐมนตรีและภริยาเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและภริยา รวมถึงคณะฝ่ายจีน 

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 47 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน และใกล้จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้รับการพัฒนามาด้วยดีเรื่อยมา โดยเฉพาะ 10 ปีหลังที่ผ่านมานี้ ไทยและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทำให้ความร่วมมือในด้านต่างๆนับวันยิ่งสนิทใกล้ชิดมากขึ้น

 

ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นประเทศต้นๆที่ลงทุนในไทยหลายปีติดต่อกัน แม้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดบ้าง แต่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองประเทศยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

จากสถิติที่เปิดเผย ในปี 2564 ปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้น 33% มีมูลค่า 131.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำลายสถิติ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกในประวัติศาสตร์ การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังจีนมีมูลค่า 11.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 52.4% ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ปริมาณการค้าระหว่างจีนและไทยอยู่ที่ 91.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งยังคงรักษาแนวโน้มที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ไทยและจีนมีนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประสานสอดคล้องกัน ทางไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดเรื่องประชาคมร่วมอนาคตของมวลมนุษยชาติที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และส่งเสริมความร่วมมือ "แถบและเส้นทาง" และทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องต้องกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงต่อกัน โดยได้ร่วมมือทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนขึ้นมา ปัจจุบัน โครงการนี้ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างระยะที่1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) คืบหน้าตามแผน  ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาของโครงการระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. โดยมีงานโยธา 14 สัญญา  ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.  อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 สัญญา นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้าง 1 สัญญา ขณะที่โครงการฯ ระยะที่2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทางรวม 357 กม. ได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)

ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ผ่านแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 และได้เสนอปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการใช้พลังงานทั้งหมดเป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2579 รวมถึงวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมเป็นสองเท่า ภายในช่วงสิ้นปี 2573 ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของจีนที่เน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวในที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลกกรอบความร่วมมือ BRICS Plus เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ว่า ...ควรร่วมมือกันส่งเสริมความเกื้อกูลระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ( BCG Economy Model) กับข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลก ( GDI) ผ่านการกระชับความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีอย่างเปิดกว้างและครอบคลุมสู่ความสมดุลในทุกมิติ

นอกจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนจีนในด้านยานยนต์ อีคอมเมิร์ซ แผงโซล่าเซลล์ ฟาร์มกังหันลม และสาขาอื่น ๆ ได้ลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศไทย  การประยุกต์ใช้ 5G เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองฝ่ายได้กลายเป็นสาขาใหม่ของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ การดำเนินงานเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่า ภาคเอกชนจีนได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวของไทย

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยเปิดเผย  นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจะหารือแนวทางการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนยิ่งขึ้น และแนวคิดระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้นำทั้งสองประเทศจะร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีนซึ่งครบรอบ 10 ปี ในปีนี้ เพื่อนำไปสู่โอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในปี 2568