ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้เป็นวันครบรอบปี ที่สหประชาชาติประกาศให้เป็น INTERNATIONAL SOLIDARITY DAY WITH THE PALESTINE PEOPLE หรือบางท่านจะเรียกว่าวันแห่งความเป็นปึกแผ่นสากลกับชาวปาเลสไตน์

สำหรับในประเทศไทยก็จะมีการจัดงานรำลึกถึงความระทมขมขื่นของชาวปาเลสไตน์ และแนวทางการแก้ไขโดยสันติ ณ ห้องสัตมรามาธิราช สถาบันปกเกล้า โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศมาให้ความรู้และข้อมูลในเชิงสร้างสรรค์ อันจะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยสันติ เพื่อมนุษยธรรม และเพื่อความยุติธรรม ซึ่งจะต้องอาศัยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวโลก ที่มีใจรักความเป็นธรรม ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม และความรักความเมตตาต่อมวลมนุษยชาติร่วมมือกันให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์เพื่อความเป็นธรรม

แต่จะมีสักกี่คนที่จะรับรู้ว่าปีนี้นับเป็นปีที่ 75 แห่งความเจ็บปวดรวดร้าวของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกเข่นฆ่าทารุณแบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ทั้งนี้ทันทีที่สหประชาชาติได้ตัดสินใจครั้งสำคัญในการที่สมัชชาใหญ่มีมติที่ 181 ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 เพื่อให้จัดตั้งประเทศในผืนแผ่นดินที่เรียกว่า “ปาเลสไตน์” โดยแบ่งออกเป็น 2 รัฐ คือ รัฐปาเลสไตน์ และรัฐอิสราเอล โดยที่มิได้มีการพิจารณาถึงกฎบัตรของสหประชาชาติที่ว่าด้วย “สิทธิในการปกครองตนเองของประชาชนในพื้นที่” เลย ก็เกิดการเข่นฆ่าที่ทวีความรุนแรงแบบล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น

อย่างไรก็ตามด้วยการผลักดันของมหาอำนาจโดยเฉพาะอังกฤษสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติก็ได้มีมติที่ 181 ออกมาจนได้

โดยที่ในขณะนั้นกองทหารอังกฤษยังคงตั้งฐาน และกองกำลังยึดครองดินแดนดังกล่าวอยู่ นับแต่รบชนะจักรวรรดิออตโตมาน

และแม้ว่าจะมีกองทหารอังกฤษรักษาการอยู่ แต่กองกำลังของผู้อพยพชาวยิวจากยุโรป และกองกำลังอาสาชาวยิวที่เข้ามาช่วยอังกฤษรบออตโตมานก็ปฏิบัติการเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตที่สหประชาชาติแบ่งให้ตั้งรัฐอิสราเอล เพื่อกดดันให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกไปด้วยกำลัง

การกระทำดังกล่าวนับว่าขัดต่อข้อมติที่กำหนดตามมติที่ 181 ที่ห้ามใช้กำลังในการบังคับให้คนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตนเอง

ครั้นเวลาช่วงค่ำของวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 กองทหารอังกฤษก็ถอนตัวออกไปหมด และวันนั้นเป็นวันที่ชาวอิสราเอลทำการเฉลิมฉลองและถือเป็นวันประกาศอิสรภาพ คำถามคือ “อิสรภาพจากใคร” ในเมื่อดินแดนนั้นมิใช่ดินแดนของผู้อพยพชาวยิวจากยุโรป

ในขณะเดียวกันชาวปาเลสไตน์ก็ถือว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 1948 เป็นวันหายนะ หรือวันมหาวิปโยคของตน เพราะนับแต่วันนั้นเป็นต้นมาชาวปาเลสไตน์ก็ถูกเข่นฆ่าสังหาร เพื่อข่มขู่กดดันให้อพยพออกจากบ้านที่อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน เพียงเพราะถูกประกาศโดยสหประชาชาติให้เป็นดินแดนอิสราเอล

คนไม่น้อยกว่า 800,000 คน ต้องถูกบังคับให้ออกจากที่อยู่อาศัย และอพยพไปตายเอาดาบหน้า หรือมิฉะนั้นก็จะถูกเข่นฆ่าล้างหมู่บ้านอย่างที่หมู่บ้านเดียร์ยัสซินใกล้เทลอาวีฟ หรือที่หมู่บ้านชายทะเลแทนทูร่า ใกล้กับไฮฟา ที่กระทำโดยกองกำลังของยิว อิสราเอล ภายใต้การชี้นำของกระบวนการยิวไซออนิสต์

แต่ความจริงเหล่านี้กลับถูกปกปิดโดยฝ่ายอิสราเอลและไซออนิสต์ ที่มีอิทธิพลต่อสื่อตะวันตก ทำให้ชาวโลกในยุคนั้นแทบจะไม่ได้ล่วงรู้เลยมาตลอด 75 ปี

ทว่าเหตุการณ์มิได้ยุติเพียงแค่นั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมายังคงมีการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ในเขตเวสแบงก์ และ กาซา

ดังรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ที่ได้ออกมติประณามการกระทำดังกล่าวมาโดยตลอด จนประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ถูกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนประณามมากที่สุด และมีจำนวนมากกว่ามติที่เคยประนามชาติต่างๆรวมกันหลายเท่า

แม้แต่รายงานการประชุมของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเมื่อปี 2020 ก็ยังปรากฏการกระทำที่เป็นการจงใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ แม้กระทั่งการกีดกันมารดา ที่ตั้งครรภ์มิให้พบแพทย์เพื่อการอนุบาลเด็กในครรภ์ การกีดกันเรื่องอาหารเด็ก ยารักษาโรค วัคซีน การศึกษา แม้แต่น้ำดื่มที่สะอาด ในเขตยึดครอง

นี่ยังไม่นับรวมการรื้อถอนที่อยู่อาศัยโดยอ้างกฎหมายที่ออกมาฝ่ายเดียวในภายหลัง ตลอดจนการดำรงไว้ซึ่งกองกำลังที่คอยจัดการกับชาวปาเลสไตน์แบบรุนแรง หากไม่ยินยอมรับการกดขี่แต่โดยดี

ดังนั้นหากเราจะพูดถึงเรื่องมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชนกันแล้ว และเราตื่นตัวกันมากในกรณีของยูเครน แต่เรากลับเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์ที่ดำเนินการมานานถึง 75 ปีแล้วอย่างต่อเนื่อง

จึงชัดเจนว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือ ความอยุติธรรมนั่นเอง และหากจะอ้างว่าเรื่องนี้เราจะขอเป็นกลางโดยที่ไม่ยอมรับความจริง แต่คงยึดถือสื่อตะวันตกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของยิวไซออนิสต์แล้วละก็ มันก็เท่ากับท่านได้เลือกข้างแล้วกับฝ่ายอธรรม

หากจะมีใครต้องขึ้นศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศ ดังที่มีการนำเสนอในกรณีของยูเครน หรือที่มีการดำเนินการมาแล้วในกรณีเซอร์เบีย แต่กับกรณีของปาเลสไตน์ ชาวโลกหรือสื่อกลับเงียบงันทั้งที่มันเกิดมานานก่อนหน้าทั้ง 2 กรณีมาก นั่นหมายความว่าความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรมใช่หรือไม่

ความจริงบางอย่างที่ถูกบิดเบือนโดยการแอบอ้างพระคัมภีร์ไบเบิล ที่กล่าวว่าดินแดนปาเลสไตน์ คือ คานาอัน เป็นดินแดนตามพันธสัญญาของพระเจ้า ที่สัญญาว่าชาวยิวที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนนั้น และต้องร่อนเร่ หรือถูกกวาดต้อนออกไป จะได้กลับมาสู่ดินแดนนั้นอีก

แต่ชาวยิวที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นและถูกกองทัพโรมันกวาดต้อนไปเป็นแรงงานในโรม กับชาวยิวที่อพยพจากยุโรป นั้นมันคนละพวกกัน แล้วมาอ้างสิทธิดังกล่าวได้อย่างไร

หากต้องการความจริงลองอ่าน TEN MYTHS ABOUT ISRAEL ของ ILAN PAPPE’ ปราชญ์ชาวยิว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ดูแล้วผู้อ่านจะพบคำโกหกจำนวนมากเพื่อสร้างมายาคติในการสร้างความชอบธรรมที่จะยึดครองดินแดนนี้

และหากจะอ้างการที่ชาวยิวผู้น่าสงสารในค่ายนาซี เมื่อสงครามครั้งที่ 2 แล้วชาวอิสราเอลอาศัยสิทธิอะไรเล่าที่จะทำกับชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์ ด้วยมาตรการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลายประการ และกล่าวอ้างว่าเป็นการปกป้องตนเอง

SARA ROY นักกิจกรรมชาวยิวเพื่อมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน ที่ดำเนินการหลายอย่างเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีไบเดนแห่งสหรัฐฯ เมื่อมีการโจมตีกาซาของอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน และในจำนวนนี้มีเด็ก 18 คน แต่ท่านไบเดนกล่าวว่า “ท่านไม่ได้เห็นการตอบโต้ที่เกินเลย” SARA ROY จึงถามว่า จะต้องให้เด็กตายกี่คนจึงจะถือว่าเกินเลย และ SARA ROY ผู้นี้คือผู้ที่มารดาถูกขังในค่ายกักกันนาซี

วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้จึงเป็นวันที่จะเปิดเผยความจริงและเรียกร้องให้ชาวโลกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวปาเลสไตน์ในการเรียกร้องความยุติธรรม บนหลักการของสิทธิมนุษยชนและการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับชาวโลก บนความขัดแย้งทั้งหลาย อันอาจนำไปสู่สงครามโลกในอนาคตได้