กรมศิลปากรเปิดให้ประชาชนเข้าชมอาคารเครื่องทองอยุธยา จัดแสดง 2,244 รายการ มากที่สุดเท่าที่เคยจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา

29 ธ.ค. 65 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ตรวจเยี่ยมความพร้อมในการเปิดให้บริการอาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ร่วมงาน

นายพนมบุตร อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอาคารหลังเครื่องทองอยุธยาใหม่นี้ว่า ใช้สำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องทองอยุธยาที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้อยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจ ทันสมัย และได้มาตรฐานตามหลักพิพิธภัณฑสถานสากล เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ทางมรดกศิลปวัฒนธรรมแก่สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นการสร้างภาพจำและความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของไทย

อาคารเครื่องทองอยุธยา ลักษณะเป็นอาคารไทยประยุกต์ 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 3,275 ตารางเมตร แบ่งเนื้อหาการจัดแสดง ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง เครื่องราชูปโภคและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ส่วนที่ 2 จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องพุทธบูชา เครื่องอุทิศ และพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงกรุจำลองวัดราชบูรณะ ส่วนที่ 3 จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่พบในโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ พระปรางค์วัดพระราม พระปรางค์วัดมหาธาตุ เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ และเจดีย์ศรีสุริโยทัย จำนวนโบราณวัตถุที่จัดแสดงภายในอาคารเครื่องทอง มีจำนวนทั้งสิ้น 2,244 รายการ โบราณวัตถุชิ้นเด่น อาทิ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระคชาธารจำลอง จุลมงกุฎ พระสุวรรณมาลา เป็นต้น

อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป (โดยระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. – 2 ม.ค. 66 ไม่เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2566) ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ามาชมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเครื่องทองอยุธยามากยิ่งขึ้นจากวิทยากร ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจและความตระหนักในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของประเทศชาติ