ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น : นำมุมมองของคนทำงานแนวทางการพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาคมานำเสนอ

เป็นงานเสวนา OCAC FORUM : แบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ “เวทีของคนร่วมสมัย หัวใจอาร์ต” ที่ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) จับมือเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายพัฒนาศักยภาพงานศิลปะร่วมสมัยในส่วนภูมิภาค ภายใต้โครงการพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาค ประจำปี 2566 เสวนาดังกล่าวผ่าน zoom meeting ครั้งที่ 1 (26 ม.ค. 66) มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายพิเศษและอภิปรายในหัวข้อต่างๆ เช่น “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของหอศิลป์ พื้นที่ศิลปะ และแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมในประเทศไทย” ในที่นี้นำมาถ่ายทอดสังเขป

ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้แนวคิดในการบริหารจัดการหอศิลป์ โดยยกตัวอย่างหอศิลป์ม.ศิลปากร วังท่าพระ ในฐานะแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะร่วมสมัย และหอศิลป์สนามจันทร์ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ในฐานะแหล่งเรียนรู้คลังสะสมผลงานศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ visible storage gallery ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการหอศิลป์ให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายการทำงาน ภารกิจและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนให้หอศิลป์ พื้นที่ศิลปะ แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

ส่วนการอภิปรายในหัวข้อ “พื้นที่ด้านศิลปวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม: แกลเลอรีและหอศิลป์ในส่วนภูมิภาค” อาจารย์วินัย ปราบริปู ศิลปินและผู้ก่อตั้งหอศิลป์ริมน่าน จ.น่าน ได้นำชมพื้นที่และบรรยากาศของหอศิลป์ริมน่านแบบสดๆ ผ่านการ Zoom พร้อมกล่าวถึงความเป็นมาของหอศิลป์แห่งนี้ที่ก่อตั้งมากว่า 19 ปี ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของศิลปิน เมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ประสบความสำเร็จในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดน่าน ด้วยจำนวนผู้ชมเฉลี่ยราว 50,000 คนต่อปี ทั้งนี้อาจารย์วินัยได้ขอให้ภาครัฐผลักดันด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหอศิลป์ เช่น การจัดการด้านรายได้และภาษีอากรจากการเก็บค่าเข้าชมหอศิลป์

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย และผู้บริหารบ้านสิงหไคล จ.เชียงราย กล่าวถึงที่มาของบ้านสิงหไคล จัดตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ใน อ.แม่ลาว เมื่อปี 2557 โดยปรับปรุงอาคารบ้านพักมิชชันนารีเก่าที่มีอายุกว่า 100 ปี บนถนนสิงหไคล ให้เป็นแกลเลอรี บริหารจัดการภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิมดชนะภัย (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร) ปัจจุบันได้พัฒนาบริหารหอศิลป์ให้เป็นพื้นที่การเก็บข้อมูลทางสถิติต่างๆ พร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการศิลปะและกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งนับเป็นนิมิตรหมายอันดีในการนำมิติด้านศิลปะเข้าสู่ชุมชน

นายกิตติพงษ์ ธรรมวรรณ ผู้จัดการศูนย์ศิลป์สิรินธร โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จ.เลย ว่าเป็นศูนย์ศิลป์ในระดับโรงเรียนที่มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนด้านศิลปะ ซึ่งได้สร้างบุคลากรเข้าสู่วงการศิลปะอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 ทั้งมีความเห็นตรงกันที่ต้องการสร้างความยั่งยืนด้านศิลปวัฒนธรรม ผ่านการใช้พื้นที่หอศิลป์ในการจัดกิจกรรมต่อยอดการเรียนรู้ด้านศิลปะอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ในการอภิปรายหัวข้อ “หอชมเมือง บ้านสวน และศาลเจ้า: พื้นที่ทางเลือกในฐานะแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม” นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ผู้บริหารหอโหวด 101 จ.ร้อยเอ็ด ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการจัดตั้งหอโหวดให้เป็นแลนด์มาร์กหรือแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ด และเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ “ออนซอนเสียง เมืองร้อยเอ็ด : 101 OST” ภายใต้โครงการพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาคของ สศร. นับเป็นตัวอย่างของแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีการเชื่อมโยงมิติด้านภูมิปัญญาพื้นบ้าน ดนตรี และศาสนา ซึ่งประสบความสำเร็จ ด้วยจำนวนผู้เข้าชมกว่า 860,000 คน สร้างรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมมากกว่า 36 ล้านบาท ในปี2565 ที่ผ่านมา

นายสุมิตร สูกี้ ผู้แทนจากศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง จ.กระบี่ และนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเหนือคลอง จ.กระบี่ ได้กล่าวถึงกิจกรรมความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาคของสศร. ซึ่งก่อให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายเป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับเยาวชนที่ต้องการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเป็นการนำมิติด้านศิลปวัฒนธรรมสู่ชุมชนที่ยั่งยืนมากขึ้นด้วย

ปิดท้ายเสวนาที่ ครูมานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2548 กล่าวศูนย์ศิลป์บ้านดิน เป็นศูนย์ศิลปะที่มีชีวิตมาตั้งแต่ปี 2549 โดยความร่วมมือกับศิลปินในสาขาต่างๆ สร้างแกลเลอรีกึ่งโรงละคร หรือ theatre-gallery การจัดแสดงดนตรี เครื่องแต่งกาย และการอบรมศิลปะ ทั้งนี้การเข้าร่วมโครงการพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาคกับทางสศร. ช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินและเครือข่ายในการผลักดันงานด้านศิลปวัฒนธรรมไปสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ด้าน นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า สศร.จะจัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ภายใต้โครงการดังกล่าว OCAC Forum : แบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ “เวทีของคนร่วมสมัย หัวใจอาร์ต” มาเผยแพร่ช่องทางเพจสศร. สื่อออนไลน์และสิ่งพิมพ์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้เข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ รวมทั้งอยากให้สศร นำเสนอเรื่องหรือประเด็นอะไร หรืออยากให้เชิญวิทยากรท่านใดมาเสวนา แจ้งข้อมูลมาได้ ทั้งนี้จะพยายามจัดเวทีแบบนี้ให้ต่อเนื่องทุกเดือน

เครดิตภาพประกอบ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย