ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หางดง  จ.เชียงใหม่ สร้างรายได้ให้ราษฎร จากอาชีพเสริมสู่อาชีพหลัก

นายไพรัตน์ ทับประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชำริ เป็น 1 ใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาทดลอง ค้นคว้าวิจัย ทดสอบ แล้วนำผลสำเร็จขยายสู่เกษตรกรในภูมิภาคภาคเหนือ มีศูนย์สาขา 5 แห่ง โดยศูนย์บริการการพัฒนาการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเป็น 1 ใน 5 ศูนย์สาขา “ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ จะนำผลสำเร็จในการขยายพันธุ์พืชให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกเพื่อประกอบอาชีพ พันธุ์พืชที่โดดเด่นในปัจจุบัน คือ พืชกลุ่มปทุมมา และกลุ่มกระเจียว มีการคิดค้นสายพันธุ์ใหม่ๆ จนเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของภาคเหนือในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีแกลดิโอลัส ที่ทุกวันนี้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างมาก”

ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งพันธุกรรมพืชที่สามารถนำมาปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้ดอกไม้คุณภาพที่ดีได้ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริในการศึกษา ทดลอง วิจัยจนได้องค์ความรู้ แล้วพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อขยายผลสู่ชาวบ้านนำไปเพาะปลูก อันนี้คือพื้นฐานที่พระองค์สร้าง ถ้าไม่ใช่โครงการพระราชดำริก็จะไม่มีหน่วยงานไหนทำงานเกี่ยวกับไม้ดอกได้ต่อเนื่องเช่นนี้ และต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด นั่นหมายความว่าจะมีการพัฒนาไปอีกได้มากขึ้น”

ด้าน นางลัดดา ซับอาภัย เกษตรกรหมู่ที่ 6 ต.ในแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ประธานกลุ่มแม่บ้าน บ้านแม่เตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กลุ่มเกษตรกรขยายผลศูนย์บริการการพัฒนาการขยายพันธ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนมีอาชีพทำนาทำไร่ทำสวน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ราคาผลผลิตไม่คงที่ หลังเข้าร่วมกับทางศูนย์ฯ ได้รับการอบรมการปลูกพืชประเภทไม้ตัดดอก และทางศูนย์สนับสนุนพันธุ์ให้ปรากฏว่าผลผลิตขายได้ราคาดี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากที่ปลูกเป็นอาชีพเสริมก่อนหน้านี้ ปัจจุบันได้ยึดเป็นอาชีพหลัก ส่วนนาและสวนเป็นอาชีพรอง “เฉพาะช่วงเข้าพรรษาขายได้เดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า 20,000 บาท ขอขอบพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้ช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยให้มีรายได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัว มีชีวิตประจำวันแบบไม่ลำบากในทุกวันนี้”

ส่วน นายศุภกฤตย์ เพี้ยงจันทร์ หัวหน้ากลุ่มผู้ปลูกไม้ดอกบ้านสบเตี๊ยะ บอกว่ายึดอาชีพปลูกไม้ดอกมาตลอด ตั้งแต่ได้รับหัวพันธุ์จากศูนย์บ้านไร่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว สืบทอดต่อจากพ่อตาที่ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์บ้านไร่ให้หันมาปลูก ก่อนหน้านี้ปลูกลำไย ปลูกมันฝรั่ง และทำนา แต่ข้าวราคาถูก ลำไยราคาไม่แน่นอน มันฝรั่งต้นทุนสูง ต้องใช้ปุ๋ยและยามาก ใช้แรงงานมาก จึงหันมาปลูกปทุมมาเพราะต้นทุนต่ำใช้เงินทุนน้อย ดูแลไม่ยาก “การปลูกพรวนดินยกร่องนำหัวพันธุ์ลงปลูก ใส่ปุ๋ยเดือนละครั้ง ประมาณ 2 เดือนจะได้ตัดอกขาย   สำหรับแกลดิโอลัสชอบอากาศเย็น ปุ๋ยไม่เปลือง ผลผลิตคุ้มวันหนึ่งตัดดอกได้ประมาณ 3 พันดอก ต่อพื้นที่ 1 ไร่ คิดเป็นเงินจะได้ประมาณ 6- 7 พันบาท ใช้แรงงาน 2 คน ปลูกไม้ดอกมีรายได้ดีฐานะก็ดีขึ้น มีเงินไปซื้อที่ ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีเงินเก็บ”

สำหรับสำหรับศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 80,000 บาทให้ เพื่อนำไปเริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลในหมู่บ้านที่บ้านไร่ หมู่ที่ 1 ต.บ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ในปีแรกได้ใช้พระราชทรัพย์ไปเพียง 40,000 บาท และประสบผลดี พระองค์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนหมุนเวียน” รวม 300,000 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร. ) ได้จัดให้โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

ปัจจุบันศูนย์ฯ ได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการผลิตพืชมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ได้พันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย และตอบสนองกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้นำพันธุ์พืชใหม่สนับสนุนแก่กลุ่มชาวบ้านในความดูแลของศูนย์ฯ และเกษตรกรผู้สนใจทั่วไปตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา พร้อมยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ที่กรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2553 – 2565 แล้วทั้งสิ้น 83 ชนิด แบ่งเป็นพืชกลุ่มปทุมมากระเจียว 46 ชนิด แกลดิโอลัส 23 ชนิด ว่านสี่ทิศ 4 ชนิด และบานชื่น 10 ชนิด พันธุ์พืชใหม่ที่นำส่งเสริมแก่เกษตรกรและเป็นที่รู้จักในท้องตลาด เช่น แกลดิโอลัสพันธุ์เจ้าฟ้า บ้านไร่ซันไซน์ บ้านไร่ซิลเวอร์สตาร์ บ้านไร่กู๊ดลัค และบ้านไร่เพอร์เพิลเจมส์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มปทุมมา ได้แก่ ลูกผสมปทุมมาพันธุ์บ้านไร่สวีท ซีเอ็มยูสวีทเลดี้ ซีเอ็มยูวิสต้า ซีเอ็มยูมิราเคิล ยูคิ นิกาตะ และบ้านไร่เบอร์กันดี้ เป็นต้น