วันที่ 27 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองและหมอกควันทั่วทั้งพื้นที่ จ.เชียงราย ยังคงมีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในปริมาณที่สูงมาก โดยกรมควบคุมมลพิษรายงานเวลา 11.00 น.จากชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย วัดได้ 551 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ อ.เมืองเชียงราย วัดได้ 243 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์มเตร และที่ อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว วัดได้ 279 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศและอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่า 44 วันแล้ว ทำให้ประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมาตามท้องถนนต้องเปิดไฟแม้แต่ในเวลากลางวันเพราะทัศนวิสัยไม่ดี 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลแม่สาย ได้จัดให้มีคลีนิคมลพิษเป็นกรณีพิเศษเพื่อรองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและอาจกำเริบในช่วงนี้ รวมทั้งมีการจัดห้องปลอดฝุ่นในเวลาและเวลาราชการ ทางด้านห้องคลอดของโรงพยาบาลแม่สาย ซึ่งเป็นห้องควบคุมอุณหภูมิได้มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่สามารถกรองอากาศเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็กด้วย

ด้าน นพ.วัชพงศ์ คำหล้า นายแพทย์สาธาณสุขจังหวัดเชียงราย ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติผู้ป่วยทางเดินทางในว่า ผู้ป่วยทางเดินหายใจในจังหวัดเชียงรายมีที่เข้ามารับการบริการ ระหว่างวันที่ 19-26 มี.ค.2566 จำนวน 3,478 ราย  โดยในพื้นที่ อ.แม่สาย  ตั้งแต่วันที่ 19-26 มี.ค.2566 จำนวน 372 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการแสบจมูก เจ็บคอ โดยพบว่าเป็นผู้ป่วยนอก ที่เข้ามารับการตรวรจและรับยาไปรักษาตามอาการต่อที่บ้าน และอีกส่วนหนึ่งคือการรักษาในระบบออนไลน์ สำหรับการรองรับผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาล ในขณะนี้ยังมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยทางเดินทางหายใจอยู่ ซึ่งปัจจุบันทางแพทย์ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วย 

“อยากฝากถึงประชาชนให้สวมหน้ากากอยามัยเพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ รวมไปถึงให้อยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัยเช่นภายในบ้าน หรืออาคาร ที่เป็นพื้นที่ปิด หากมีเครื่องฟอกอากาศควรจะเปิดเอาไว้ตลอด” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าว 

ด้านเครือข่ายภาคเอกชนและประชาชน อ.แม่สาย ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยและไปรวมตัวกันที่หน้าที่ว่าการ อ.แม่สาย เพื่อยื่นหนังสือต่อนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วนคือให้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินทันทีเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ประชาชน เช่น สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 หน้ากากอนามัย ยา เวชภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดผลกะรทบจากการทำการเกษตรในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว จนทำให้มีฝุ่นละอองปลิวเข้ามาสู่ฝั่งไทย ส่วนในระยะยาวขอให้มีการเชิญผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาหารือ สุดท้ายขอให้ยกระดับปัญหานี้เป็นมาตรการร่วมในระดับภูมิภาคและอาเซียนด้วย