จากที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงกระเป๋าย่านลิเภา ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสที่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี  เสด็จพระราชดำเนินไปเพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้สร้างพลังแห่ง Soft Power ผ่านงานศิลปะหัตถกรรม ด้วยลวดลายที่สวยงามของกระเป๋าย่านลิเภาสร้างความโด่งดังภายในชั่วข้ามคืน

ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2562 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในการเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “สายธารแห่งพระบารมี สู่การพัฒนาสตรีที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2562

โดยเพจเฟซบุ๊ก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage ได้เผยแพร่ข้อมูล ซึ่งมีข้อความ ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหม และกระเป๋าทรงของพระองค์ ที่ทรงนำไปร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3คือกระเป๋าย่านลิเภา ซึ่งเครื่องจักสานย่านลิเภา งานศิลปะหัตถกรรมชนิดนี้ ถือเป็นงานศิลปะเก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำกันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ จนปัจจุบันเป็นสินค้าประจำถิ่นและของที่ระลึกระดับประเทศ โดยกระเป๋าย่านลิเภาในสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นทรงธรรมดา ขึ้นรูปกระเป๋าแบบเรียบ ถือเป็นทรงดั้งเดิมที่ทำกันมานาน เพราะสมัยก่อนจะไม่นิยมทำทรงแปลกๆ ต่างจากปัจจุบันที่กระเป๋าย่านลิเภามีดีไซน์แปลกตาและหลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ งานจักสานย่านลิเภา ยังแสดงให้เห็นถึงฝีมืออันประณีต ความอุตสาหะของช่างผู้ผลิต ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ ผู้ครอบครอง หรือผู้เป็นเจ้าของอีกด้ว ซึ่งปัจจุบันงานสานย่านลิเภา ยังคงดำเนินกันต่อไปโดยการสนันสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กระจายไปตามแหล่งต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผลงานอันมีอายุความเป็นมาร้อยปีเศษ ยังคงปรากฏชัดในความงดงาม รวมทั้งภูมิปัญญาของชาวบ้านในทั่วทุกพื้นที่เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าแขนงนี้ต่อไปในอนาคตกาล

อีกทั้งเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงกระเป๋าย่านลิเภาในแต่ละวัน กับฉลองพระองค์ในแต่ละวันด้วยผ้าขิดไหม ลายดอกไม้ที่มีความหมายแตกต่างกันไป ทั้งฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพิกุลถมเกสร ในโอกาสทรงร่วมงานพระราชทานเลี้ยงรับรองพระประมุข การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระราชวังบั๊คกิ้งแฮม สหราชอาณาจักร

ซึ่ง“ผ้าไหมยกดอกลำพูน” เป็นผ้าทอมือที่ขึ้นชื่อในเรื่องความประณีตงดงามมากที่สุดแบบหนึ่งในภาคเหนือ โดยเป็นเทคนิคการทอผ้าด้วยการยกลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า โดยส่วนใหญ่นำลวดลายมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะ“ลายดอกพิกุล” ที่ถือเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของผ้าทอยกดอกลำพูน

และทรงฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน พระภูษาผ้ายกลำพูนสังเวียน ประเภทผ้ายกใหญ่ ลายดอกพิกุลหลวงทรงสายสะพายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงพระสังวาลนพรัตน์ ดารานพรัตน์ ทรงเข็มกลัดดวงตรามหาจักรีประดับเพชร ทรงพระปั้นเหน่งนพรัตน์ ทรงทองพระกรเพชร และ ทรงสร้อยพระศอและพระกุณฑลไพลินประดับเพชร ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่เสด็จพร้อมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชดำเนินทรงร่วมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ด้วยฝีมืองานศิลปะอันเก่าแก่ที่เรียบง่ายแต่โก้หรูถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นนับเป็นร้อยๆ ปีส่องประกายความงดงามผ่านสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้สร้างความสนใจจากทั่วโลกภายในชั่วข้ามคืน นับเป็น Soft Power ที่นำพาประเทศไทยสู่สายตาประชาชนทั่วโลกอย่างสวยงาม