“ห่วงโซ่อุปทาน” หรือที่หลายคนเรียกกันจนฮิตติดปากว่า “ซัพพลายเชน (Supply Chain)” หรือบางคนเรียกว่า “เครือข่ายโลจิสติกส์” ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าไป ซึ่งเป็นการใช้ระบบของหน่วยงาน คน แรงงานคน เทคโนโลยี กิจกรรมข้อมูลข่าวสาร และทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน เพื่อการเคลื่อนย้ายสินค้า หรือบริการ จากผู้จัดหาไปยังบรรดาลูกค้าต่างๆ โดยกิจกรรมของห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน จะแปรสภาพของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนวัตถุดิบ และวัสดุทั้งหลายให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จ แล้วส่งต่อไปยังลูกค้า ตลอดจนผู้บริโภค

เมื่อห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน มีปัญหาขัดข้อง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากโรคระบาด สงครามการสู้รบ ตลอดจนภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่างๆ ทางธุรกิจ ลามเลยไปจนถึงเศรษฐกิจโดยรวมตามมา

เหมือนอย่างเฉกเช่นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ที่นอกจากโรคร้ายกำลังอาละวาดแล้ว ก็ยังมีมาตรการปิดพื้นที่ หรือล็อกดาวน์ เป็นอุปสรรคสำคัญของระบบห่วงโซ่อุปทานด้วย รวมถึงการสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายเหลือต่อห่วงโซ่อุปทานอยู่ไม่น้อย จนก่อให้เกิดปัญหาขัดข้องในกิจกรรมของการดำเนินธุรกิจหลายประเภท และลุกลามไปยังเศรษฐกิจโดยรวม ดังที่ในหลายๆ ประเทศประสบในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า ชิ้นส่วนต่างๆ ที่จะนำไปประกอบเป็นสินค้าอื่นๆ ต่อยอด รวมไปถึงการลำเลียงสินค้า และชิ้นส่วนที่เป็นส่วนประกอบของสินค้าไปยังประเทศต่างๆ

ด้วยประการฉะนี้ ในการประชุมของกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมไปจนถึงองค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย ในช่วงเร็วๆ นี้ที่ผ่านมา ก็มักจะหยิบยกเรื่องวิกฤติปัญหาของซัพพลายเชนขึ้นมาหารือ เพื่อหาแนวทางในการรับมือกับวิกฤติปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ล่าสุด ในการประชุมของกลุ่มประเทศที่เรียกว่า “อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)” ซึ่งประกอบด้วยบรรดาประเทศที่อยู่รายรอบมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ที่ ณ ปัจจุบัน มีจำนวน 14 ประเทศ เข้าร่วมวงไพบูลย์ในฐานะชาติพันธมิตรอินโด-แปซิฟิก ได้หยิบยกเรื่องวิกฤติปัญหาของห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อกิจกรรมทางธรุกิจและเศรษฐกิจขึ้นมาหารือ ภายใต้กรอบที่เรียกว่า “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง” หรือ “ไอพีอีเอฟ” (IPEF : Indo-Pacific Economic Framework)

โดยการหารือข้างต้น ก็มี “สหรัฐอเมริกา” ในฐานะชาติพี่เบิ้มใหญ่ของอินโด-แปซิฟิก เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งการประชุมก็มีขึ้นที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในการประชุมไอพีอีเอฟ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ก็จัดว่าเป็นรอบของ “คณะรัฐมตรีกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงการค้า” ของเหล่าชาติสมาชิก ซึ่งในการประชุมดังกล่าวที่มีขึ้นครั้งนี้นั้น ก็ถือว่า มีความพิเศษ เพราะได้เชิญ “จีนแผ่นดินใหญ่” ที่ไม่ได้ร่วมวงไพบูลย์กับอินโด-แปซิฟิกอย่างเป็นทางการมาเข้าร่วมประชุมข้างต้นด้วย

โดยรัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของตัวแทนการค้าของจีน นั่นคือ “นายหวัง เหวินเทา” ผู้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน” มาเข้าร่วมประชุมหารือกับเหล่าคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงการค้า จากเหล่าชาติสมาชิกของไอพีอีเอฟ แบบส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงตำแหน่งเท่าเทียมกันมาร่วมหารือกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนระดับสูงของหน่วยงาน องค์กร ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศอื่นๆ ตลอดจนบริษัททางธุรกิจและอุตสาหกรรมชั้นนำ เข้าร่วมในเวทีการประชุมไอพีอีเอฟในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน บริษัทเกรทเตอร์แปซิฟิกอินดัสตรีส์ เป็นต้น

ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมหารือ ปรากฏว่า ตัวแทนของ 14 ชาติไอพีอีเอฟ ได้บรรลุความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อหาแนวทางในการร่วมมือกันสำหรับรับมือกับวิกฤติปัญหาซัพพลายเชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาคลี่คลายวิกฤติปัญหาข้างต้นแล้ว ก็ยังเป็นการร่วมแรงร่วมใจรับมือกับวิกฤติปัญหาของระบบห่วงโซ่อุปทานที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง เรียกว่าเป็นการรับมือแบบร่วมกันเป็นเครือข่ายในการจัดการกับวิกฤติ (Crisis Response Network)

นายมาร์ค มีลี รองประธานฝ่ายนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน หรือ “ยูเอสเอบีซี” (USABC : US-ASEAN Business Council) เปิดเผยว่า การประชุมแผนรับมือวิกฤติปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานที่หารือกันนั้น ก็หยิบยกโดยสมมติจำลองเหตุการณ์ของวิกฤติโรคระบาดในอนาคต คล้ายกับโควิด-19 ที่อาละวาดบนโลกเรา จนส่งผลให้ระบบห่วงโซ่อุปทานต้องระส่ำไปตามๆ กัน

ในการรับมือกับสถานการณ์จำลองข้างต้น ก็มีทั้งการประสานงานระหว่างกัน ท่ามกลางมาตรการปิดพื้นที่ หรือล็อกดาวน์ ที่ส่งผลต่อการเดินทางและการลำเลียงขนส่งสินค้า ตลอดจนอุปกรณ์ ชิ้นส่วนต่างๆ ที่จะนำไปประกอบเป็นสินค้า ซึ่งมิใช่แต่เฉพาะทางบก และทางเรือ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทางอากาศด้วย ที่ถูกยกให้เป็นโจทย์ตัวอย่างโจทย์หนึ่ง สำหรับการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งในช่วงที่โควิด-19กำลังอาละวาดอย่างหนัก

โดยผู้บริหารรายหนึ่งของเกรทเตอร์แปซิฟิกอินดัสตรีส์ ระบุว่า ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรุรนแรง และต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ บรรดาบริษัทและคู่ค้าต่างๆ ก็ทำได้เพียงการติดต่อผ่านซูม (Zoom) บ้าง หรือวิดีโอคอลล์บ้าง ซึ่งบรรยากาศแตกต่างจากที่เหล่าผู้บริหาร หรือตัวแทนธุรกิจแต่ละฝ่าย มานั่งคุย สัมผัสจับมือจับไม้ในแบบตัวเป็นๆ และที่สำคัญการสื่อสารติดต่อเพื่อทำธุรกิจผ่านซูม หรือวิดีโอคอลล์ข้างต้น ก็ถือว่า มีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง หรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ก็มีอยู่มิใช่น้อย

อย่างไรก็ดี แม้ 14 ประเทศของอินโด-แปซิฟิกตกลงในความร่วมมือดังกล่าวไปแล้วด้วยดี แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงปฐมเบื้องต้นเท่านั้น โดยต้องรอดูต่อไป ซึ่งจะเปลี่ยนเวทีใหม่จาก “อินโด-แปซิฟิก” ไปเจรจาในการประชุมสุดยอด “เอเปคซัมมิต” ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่แท้จริงกันได้หรือไม่?