นายยา  เจะนะ  เกษตรกรรายหนึ่งในพื้นที่บ้านบาเลาะ หมู่ที่ 5 ตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เดิมนายยา ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปนอกหมู่บ้านนาน ๆ ครั้งถึงจะกลับบ้านไปหาครอบครัว ด้วยความรับผิดชอบจำต้องทำงานหาเลี้ยงชีวิตคนในครอบครัวทั้ง 6 คน แม้บางครั้งจะรู้สึกอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยและยากลำบากเพียงใดก็ต้องอดทนทำงานรับจ้างต่อไป จนกระทั่งถึง จุดอิ่มตัวเบื่อหน่ายกับการทำงานนอกบ้านห่างลูกห่างเมียจึงได้กลับมาอยู่ที่บ้านบาเลาะอย่างถาวร หันมาปลูกผักเสี้ยน และพืชผักอื่นๆ ไว้บริโภคในครอบครัว

 

บ้านบาเลาะเป็นอีกพื้นที่การขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ พัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำป่าพรุเสื่อมโทรม ในเขตพื้นที่บ้านป่าทุ่งหมู่ที่ 4 ตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านป่าทุ่งปรับปรุงดินด้วยหิน  ปูนฝุ่น ปรับรูปแปลงนาส่งเสริมการปลูกข้าวและพืชไร่หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร ต่อมาในปี 2558 ได้ขยายผลการพัฒนาพื้นที่ไปสู่บ้านบาเลาะ โดยส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรปลูกพืชผักแบบผสมผสานบริเวณบ้าน เนื่องจากพื้นที่ของบ้านบาเลาะส่วนใหญ่มีสภาพเป็นดินทรายจัด จึงสนับสนุนให้ปลูกปอเทืองซึ่งเป็นพืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน เมื่อปอเทืองออกดอกบานเต็มที่มีอายุ 40-60 วัน จึงทำการไถกลบและจะย่อยสลายประมาณ 10-15 วัน จึงปลดปล่อยธาตุอาหารและเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการทำและการใช้ปุ๋ยหมัก รวมถึงปุ๋ยคอกเพื่อปรับปรุงดินทรายจัดให้เกษตรกรนำมาใช้ในการปลูกพืชผัก และส่งเสริมให้เกษตรกรบ้านบาเลาะปลูกพืชผักกินใบและผักกินผลบริเวณบ้าน เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง แตงกวา บวบ ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว อีกทั้งจัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรบ้านบาเลาะ เกี่ยวกับการปรับปรุงดินทรายจัดเพื่อการปลูกพืชผัก  ไม้ผล ทำให้เกษตรกรได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการปลูกพืชผัก ไม้ผล ในพื้นที่บริเวณบ้านตามความเหมาะสม ผลผลิตที่ได้บางส่วนนำมาบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายในชุมชน ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง แต่ยังมีเกษตรกรบ้านบาเลาะยังคงปลูกผักเสี้ยนเป็นอาชีพหลัก

แม้อายุนายยาจะล่วงเลยมาถึง 69 ปีแล้ว ก็ยังคงยึดอาชีพปลูกผักเสี้ยนเป็นอาชีพ หลังจากที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ให้การสนับสนุนต่อยอดอาชีพการปลูกผักเสี้ยน โดยมีนายเปาซี บินสาฮะ เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ผู้รับผิดชอบพื้นที่ได้ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการปลูกผักเสี้ยน การดูแลรักษา และแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนวางแผนการปลูก โดยจัดทำแปลงย่อย ๆ  และปลูกหมุนเวียนกันไปเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี วิธีการก็คือการเตรียมดินก่อนปลูกผักเสี้ยน ถากหญ้าพรวนดินยกร่องเตี้ย ๆ ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร และขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 5 เมตร  หรือร่องขนาดตามความเหมาะสมของพื้นที่ จากนั้นตากดินประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อทำลายเชื้อรา และหว่านปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก พรวนดินคลุกเคล้าให้เข้ากันและหว่านเมล็ดผักเสี้ยนลงในแปลง เมื่ออายุ 4-5 วันทำการรดน้ำ เมื่อผักเสี้ยนงอกต้องรดน้ำทุกวันและหว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อายุได้ประมาณ 1 เดือนเริ่มเก็บผลผลิตได้ ส่วนพื้นที่รอบ ๆ บริเวณบ้าน นายยาได้ปลูกมะพร้าว กล้วย  พริกขี้หนู  ทุก ๆ เช้านายยาและภรรยา ช่วยกันเก็บผักเสี้ยน โดยใช้กรรไกร หรือมีดทำครัวเล่มเล็ก ๆ ค่อย ๆ ตัดผักเสี้ยนไปทั่วทั้งแปลงไปขายให้แม่ค้าในหมู่บ้าน ราคากิโลกรัมละ 25 บาท มีรายได้ประมาณ 400-600 บาท/วัน แม่ค้าจะนำผักเสี้ยนในหมู่บ้านมาดองเพื่อส่งจำหน่ายในหมู่บ้านและนอกพื้นที่ ได้แก่ ตลาดสายบุรี ตลาดสดนราธิวาส ตากใบ ตันหยงมัส ยะลา และตลาดสดปัตตานี  สำหรับช่วงเดือนถือศีลอดแม่ค้าจะส่งจำหน่ายไปยังเพื่อนบ้านสู่ประเทศมาเลเซีย  และเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ก็หมดฤดูกาลเก็บผักเสี้ยน แต่นายยา ยังสามารถเก็บผลผลิตผักบุ้งและผักอื่น ๆ ที่ปลูกแทนผักเสี้ยนจึงมีรายได้จากพืชผลที่ปลูกรอบบริเวณพอมีรายได้เลี้ยงสมาชิกในครัวเรือนทั้ง 6 คนกว่า 7 ปี ที่นายยาและครอบครัวปลูกผักเสี้ยนเป็นอาชีพหลัก เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นและที่สำคัญการปลูกผักเสี้ยนในพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยใช้สารเคมีใด ๆ เลย รวมไปถึงพืชผักบริเวณบ้านทำให้ได้ผลผลิตที่ปลอดสารพิษทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และเป็นการใช้ทรัพยากรดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนและชุมชน

นายยา ได้พูดในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงการประกอบอาชีพของตนว่า “ผมรู้สึกซาบซึ้งใจมากที่ทำให้เรามีงานทำมีรายได้ และที่สำคัญไม่ต้องไปทำงานนอกบ้านอีกแล้ว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่ช่วยผมและชาวบ้านให้มีอาชีพ เพียงเท่านี้ผมและครอบครัวก็เป็นสุขแล้วครับ” นับได้ว่า นายยา เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งแห่งความสำเร็จจากการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ  ถึงแม้จะไม่ร่ำรวยก็ตาม แต่รายได้จากการปลูกผักเสี้ยนที่นายยาลงมือปลูกและดูแลด้วยใจนี้เอง ที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในครอบครัวทั้ง 6 ชีวิต สร้างรอยยิ้มให้กันและกัน ใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง เพียงแค่นี้ก็สร้างสุขให้คนในครอบครัวอย่างมากมายจนถึงทุกวันนี้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชปณิธานให้เกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆและพื้นที่ใกล้เคียงได้มีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างเป็นที่ประจักษ์ทั่วกัน

นางขวัญจิรา สุวรรณ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ