ได้น้ำจากโครงการอันเนื่องพระราชดำริ ทำเกษตรผสมผสาน รายได้งาม เหลือกินเหลือใช้

นางสมพร คีรีนิล เกษตรกรหมู่ 6 ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เปิดเผยในโอกาสให้การต้อนรับพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าในการใช้ประโยชน์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า ตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำทำให้พื้นที่มีน้ำเพียงพอแก่การทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตมีความสมบูรณ์ขายได้ราคา ได้แบ่งพื้นที่ทำกินออกเป็น 3 แปลง แปลงที่ 1 พื้นที่ 9 ไร่ ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แปลงที่ 2 พื้นที่ 26 ไร่ ทำไร่นาสวนผสม และแปลงที่ 3 พื้นที่ 21 ไร่ ปลูกทุเรียน สับปะรด อะโวคาโด พริก มะนาว มะพร้าว มะละกอ กาแฟ โกโก้ และพืชผักสวนครัว  จากการขายผลผลิตในแต่ละปีจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 300,000 - 400,000 บาท ครอบครัวไม่มีหนี้สินมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ตอนอายุ 10 ขวบได้รับพระราชทานชุดนักเรียน 3 ชุด รองเท้า 1 คู่ และอุปกรณ์การเรียน จากในหลวงรัชกาลที่ 9 รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณมาก ตอนนั้นครอบครัวทำนากุ้งแต่ประสบความล้มเหลวขาดทุนกว่า 3 ล้านบาทหมดตัว รถหกล้อ 1 คันถูกยึด บ้านจะถูกธนาคารยึด ต่อมาเข้าเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำการเกษตรแบบผสมผสานจึงค่อยๆ ฟื้นตัว ช่วงที่ผลผลิตพืชชนิดหนึ่งราคาตกก็จะมีผลผลิตอีกชนิดหนึ่งที่มีราคาเข้ามาทดแทน จึงไม่ขาดทุน แถมมีกำไรพอที่จะนำมาใช้หนี้ไปไถ่ถอนรถบ้านที่ถูกยึดกลับคืนมา ในปี 2558 ได้รับโล่รางวัลหนึ่งความดีเพื่อพ่อของแผ่นดิน รู้สึกภาคภูมิใจ และมีความสุขกับการเดินตามคำที่พ่อหลวงสอน” นางสมพร คีรีนิล กล่าว

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายประภาศ โต้ตอบ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้พิจารณาเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำยางชุม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่ากุยบุรี ตลอดจนส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และมีพระราชดำริเพิ่มเติมในการทำระบบกระจายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ โดยพิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำ (Check Dam) และสร้างสระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยในพื้นที่เหนืออ่าง เพื่อช่วยเก็บกักน้ำ และช่วยชะลอน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม

ต่อมาหน่วยงานที่ร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริ ดำเนินการเพิ่มระดับเก็บกักน้ำ ส่งผลทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นโดยเฉพาะป่าไม้โดยรอบทำให้ช้างป่ามีแหล่งน้ำและอาหาร โดยเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จาก 15,300 ไร่ เป็น 20,300 ไร่ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับลุ่มน้ำกุยบุรี ช่วยผลักดันน้ำเค็มในคลองกุยบุรีในช่วงหน้าแล้ง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย  นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำตั้งแต่ปี 2533 มีสมาชิก 220 ราย เคยได้รับรางวัลสถาบันเกษตรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2543 ต่อมาจึงได้ยกระดับเป็น สหกรณ์การเกษตรชลประทานยางชุม จำกัด มีสมาชิกจำนวน 300 ราย ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการจัดการชลประทาน

“ปัจจุบันประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่จะปลูกสับปะรด มะม่วง และไม้ให้ผลยืนต้น ผสมผสานกับพืชผักสวนครัว และจากที่ส่วนมากประสบความสำเร็จในการทำกินจึงเป็นผลให้ประชาชนที่อาศัยทางท้ายน้ำได้มีการปรับเปลี่ยนการทำกินมาทำการเกษตรเช่นเดียวกันนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนที่มีในปัจจุบันถือว่ายังเพียงพอกับความต้องการใช้ของประชาชน” นายประภาศ โต้ตอบ กล่าว