เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 66 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า หลังจากที่ส่งหนังสือขอให้ กกต. ตรวจสอบหนังสือ 4 เล่ม ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปแล้วนั้น ปรากฏว่า มีหลายคนหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นผ่านทางโลกออนไลน์ไปต่าง ๆ นานา ซึ่งน่าจะมาจากความไม่มีความรู้ แต่อยากแสดงความเห็น จนอาจทำให้เนื้อหาในคำร้องถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้คำร้องมีความชัดเจนขึ้น จึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อ กกต. ดังต่อไปนี้ 
           
ข้อ 1. พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้บางส่วน ดังนี้
           
“มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
           
“หนังสือพิมพ์” หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทํานองเดียวกัน
           
“ผู้พิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์
           
“เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์”
          
 ข้อ 2. พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ศาลรัฐธรรมนูญเคยนำมาใช้วินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ด้วย เช่น คำวินิจฉัยที่ 14/2562 เป็นต้น 
           
ข้อ 3. หนังสือทั้ง 4 เล่ม ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “หนังสือพิมพ์” ซึ่งหมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทํานองเดียวกัน 
           
ข้อ 4. ดังนั้น การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้เขียนด้วยตัวเองหรือร่วมกับผู้เขียนอื่น รวมทั้งเป็นสำนักพิมพ์ด้วยนั้น ย่อมจะทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าข่ายเป็น “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” ตามความในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 4
           
ข้อ 5. ทั้งนี้ ได้แนบสำเนาเอกสารการสืบค้นข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติ เกี่ยวกับหนังสือของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาประกอบการตรวจสอบเพิ่มเติม ด้วยแล้ว