วันที่ 12 ก.ค.66 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพและข้อความว่า ...

เพื่อนธรณ์เชื่อไหมครับว่า ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าไม่ถึง 500 เมตร เด็กๆ กำลังเรียนวิธีจับปลา

แล้วไงล่ะ ? แต่หากลองคิดให้ดี มีที่ไหนในประเทศไทยที่เป็นเช่นนี้

คำตอบคือมีที่เดียวครับ เพราะคณะประมง มก. ตั้งอยู่ใจกลางความเจริญรอบด้าน แต่เรามีพื้นที่กว้างใหญ่ มีบ่อปลาเรียงราย

การเรียนการสอนว่าด้วยการเลี้ยงปลาจับปลาจึงเป็นไปได้ แม้อยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย

แล้วจับปลาสำคัญอย่างไร ? ในยุคที่เต็มไปด้วย AI และไฮเทคโนโลยี

AI วาดภาพได้ เขียนรายงานได้ พรีเซนต์ต่อที่ประชุมใหญ่ UN ก็ทำได้ แต่จับปลาได้ป่าว ?

การเลี้ยงสัตว์เป็นทักษะพื้นฐานของมนุษย์ ผ่านเวลาเนิ่นนานหลายหมื่นปี แม้ตามทฤษฎี AI อาจทำได้ แต่ในภาคปฏิบัติยังอีกไกลนัก

ที่คณะประมง เราใช้เทคโนโลยีล้ำยุคในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เราคือหนึ่งในสถาบันการเรียนการสอนการวิจัยด้านนี้ที่ติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย

แต่ทุกอย่างเริ่มมาจากพื้นฐาน จับปลาเป็นไหม ?

บางสิ่งที่ดูเหมือนสบาย แต่เมื่อลงมือทำจริงมันไม่ง่าย ปลามันโดดได้ ปลามันเกลียดโดนจับ

นิสิตปี 3 วิชาเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำจืด จึงวี้ดว้ายกระตู้วู้อยู่ในน้ำ เพื่อพยายามจับปลาให้ได้สักตัว

แม้จะพยายามบอกคุณปลาว่าไม่ได้จับไปลงหม้อแกง แต่จับไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ คุณปลาก็ไม่ยอมเชื่อ

พวกเราโดด แบร่ๆ

ระหว่างที่เพื่อนธรณ์ใส่ชุดทำงานนั่งรถไฟฟ้าไปออฟฟิศ หากมีโอกาสผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลองชำเลืองมองมาในรั้วสีเขียว

ที่นั่น เด็กๆ กำลังต่อสู้กับปลาอย่างดุเดือด

ไม่ใช่เพียงเพื่อเรียนรู้วิธีเลี้ยงปลาจับปลาให้เป็น แต่ยังเพื่อเรียนรู้พื้นฐานสำคัญของชีวิตในวันหน้า

อยากได้ อยากกิน ต้องลงมือทำ