ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

จากท้องนาสู่โลกกว้าง “ความเหลื่อมล้ำ ยากจน และด้อยพัฒนา” ก็ยิ่งแผ่ขยายไม่สิ้นสุด

กงกริชไม่ใช่เด็กท้องนา แต่เขาศึกษา “เศรษฐศาสตร์แท้” จากชนบทที่เขาอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ในพื้นที่ที่แห้งแล้งและยากจนที่สุดของประเทศไทย เพราะเพียงแค่เขาได้มาเรียนที่กรุงเทพฯ จากชั้นมัธยมต้นจนจบปริญญาโท ในเวลา 12 ปี เขาก็เปรียบเทียบได้ว่า “บ้านนอก” กับ “เมืองกรุง” นั้นช่างแตกต่างกันลิบลับ แต่พอเขาได้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ญี่ปุ่นอีก 4 ปี เขาก็ยิ่งมองเห็นว่า “เมืองไทย” กับ “เมืองนอก” นั้น แตกต่างกันเหมือน “ฟ้ากับเหว” โดยวัดที่ความเจริญของบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

ประเทศญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2525 นั้นพัฒนาไปไกลมาก ถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สินค้าญี่ปุ่นมีขายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยถึงกับต้องมีการเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น (เชื่อกันว่าจากการเดินขบวนครั้งนั้นก็เป็นต้นเหตุหนึ่งของการเกิด 14 ตุลาคม 2516 ตามมา) น่าแปลกที่ประเทศที่แพ้สงครามเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยถูกระเบิดปรมาณูถล่มไปสองเมืองใหญ่จนราบเรียบ กลับฟื้นขึ้นเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” ได้ภายในเวลาไม่ถึง 30 ปี

กงกริชได้ความรู้จากโปรเฟสเซอร์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่แกมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่รุ่งโรจน์นั้นเป็นผลมาจาก “วัฒนธรรมแบบมดงาน” ของคนญี่ปุ่น ประการแรก มดนั้นเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ แต่ขยันขันแข็ง มีพลังมาก และมีความอดทนพยายามสูง กับอีกประหนึ่ง มดอยู่รวมกันเป็นฝูง มีระบบชีวิตที่เป็นระเบียบ เพียงแต่ถ้ามีการจัดวางระบบการทำงานที่ดี ฝูงมดนั้นก็จะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำความสำเร็จมาสู่ฝูงมดโดยรวม

แต่กงกริชได้มองสังคมญี่ปุ่นลึกลงไปยิ่งกว่านั้น เขามองว่าคนญี่ปุ่นปรับตัวได้ไว แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ของญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นเรียกอย่างยิ่งใหญ่ว่า “พระมหาจักรพรรดิ” โดยในช่วงที่ตรงกับประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ในญี่ปุ่นก็มีพระมหาจักรพรรดิเมจิ ผู้ที่ “พลิกโฉม” ญี่ปุ่นด้วยการยอมรับเอาวัฒนธรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ของตะวันตกเข้ามาในประเทศ ญี่ปุ่นสามารถผลิตเรือรบและเครื่องบินได้ จนสามารถไปยึดจีน เกาหลี และแมนจูเลียได้ นั่นเองที่เป็นสาเหตุให้ญี่ปุ่นเหิมเกริมคิดที่จะยึดโลก โดยเริ่มจากการยึดเอเชียทั้งทวีปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พอโดนสหรัฐอเมริกาถล่มด้วยระเบิดปรมาณูแล้วเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเสียใหม่ ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ขัดขืนและปรับตัวให้เข้ากับ “วัฒนธรรมทางการเมืองใหม่” แบบนั้น ที่รวมถึงพระมหาจักรพรรดิ ที่ต้องถอยบทบาทออกไปจากระบบการเมือง แต่ที่กระทบวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่เคยเชื่อเรื่อง “บูชิโด” หรือความเป็นลูกพระอาทิตย์ อันหมายถึงความยิ่งใหญ่ของชนชาติญี่ปุ่น มากที่สุดก็คือ การลดความ “ผยอง” ของคนญี่ปุ่นลงมาได้เด็ดขาด และพร้อมยอมตามการควบคุมของพลังภายนอกประเทศที่ใหญ่กว่า จนกระทั่งญี่ปุ่นนั้นก็ได้กลายเป็น “พลังใหญ่” นั้นด้วยในที่สุด ซึ่งก็เป็นไปตามที่โปรเฟสเซอร์ญี่ปุ่นได้สอนกงกริชไว้นั่นเอง

เมื่อกงกริชกลับมาเมืองไทยก็สมัครสอบเข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทั้งที่ความจริงเขาอยากเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากกว่า แต่ตอนนั้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่เปิดรับ โดยเขาคิดว่าทำงานที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนี้ไปก่อน พอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดรับก็จะโอนย้ายไปภายหลัง แต่พอทำไปได้ไม่นานก็รู้สึกติดใจระบบการทำงานของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ดูจะมีอิสรเสรีพอควร ทำให้เขามีเวลาไปทำงานวิจัยที่เขาชอบ และได้พบ “โลกใหม่” ที่เขาใฝ่ฝัน เขาจึงไม่คิดที่จะย้ายไปไหน และอยู่ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนั้นจนเกษียณอายุ

งานวิจัยส่วนใหญ่ของเขาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบท โดยเฉพาะเกษตรกรและชาวนา แต่ก็ได้ศึกษาเชื่อมโยงไปกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นผู้ปกครองในสังคมไทยด้วย และพบว่าพวกชนชั้นสูงและชนชั้นผู้ปกครองนั้นมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นอย่างมาก วัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่งที่เขาคิดว่าเป็นอุปสรรคอันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยก็คือ “ความหน้าใหญ่ใจโต” ที่เกิดจากระบบศักดินาในอดีต

เขามองว่าคนยากคนจนในประเทศไทย ล้วนแต่ถูกศักดินา “ผูกมัด” ไว้อย่างแน่นหนาโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่พวกชนชั้นสูงและชนชั้นปกครองสามารถแสดงความเป็นศักดินาผ่านการใช้อำนาจอย่างเป็นทางการ เช่น ตำแหน่งทางสังคมและทางการปกครอง ได้แก่ ความเป็นเจ้า เป็นพระ เป็นขุนนาง หรือเป็นผู้มีอิทธิพล รวมถึงในทางเศรษฐกิจ ผ่านความมั่งคั่งร่ำรวยของพ่อค้าวาณิชทั้งหลายนั้นด้วย แต่ “คนเล็กคนน้อย” หรือคนที่ไม่มีอำนาจและคนยากคนจนในประเทศไทย ก็มีวิธีการในการแสดงออกแบบศักดินาด้วยการแสดงความเป็น “ผู้มีหน้าตา” เป็นต้นว่า การแข่งขันกันทางอำนาจวาสนา  การมีลูกพี่เป็นคนใหญ่โต หรือมีสังกัดเจ้านายที่เหนือกว่าคนอื่น ในโลกปัจจุบันก็คือระบบเส้นสาย “เจ้าพี่ - เจ้าพ่อ” ตลอดจนแข่งกันทำบุญ บวชลูก เลี้ยงพระ การจัดมหรสพ และกฐินผ้าป่าต่าง ๆ

สังคมไทยจึงมีการ “ครอบงำและร่วมประโยชน์(หรือเอาเปรียบ)” กันเป็นทอด ๆ ในยุคโบราณก็คือจากเจ้าสู่ขุนนางและไพร่ แต่ในยุคสมัยใหม่ก็คือจากคนที่มีอำนาจมากสู่คนที่มีอำนาจน้อย(หรือไม่มีเลย) วิธีแก้ปัญหานี้ควรจะต้องทำอย่างไร แล้วกงกริชก็นึกย้อนกลับไปที่ “เจแปนโมเดล” หรือเอาญี่ปุ่นเป็นตัวแบบ ซึ่งญี่ปุ่นก็มีโครงสร้างทางการเมืองการปกครองคล้าย ๆ กันกับไทยในอดีต คือถูกครอบงำและแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกันผ่านระบบศักดินา แต่เมื่ออเมริกาเข้าปกครองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ทำลายระบบความเชื่อเรื่องศักดินานั้นไปโดยสิ้นเชิง พร้อมกับที่ประเทศญี่ปุ่นได้พลิกฟื้นขึ้นมาด้วยพลังของ “คนเล็กคนน้อย” จนกระทั่งญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว

เขาเสนอความคิดเห็นตามความเชื่อของเขานี้ “แบบอ้อม ๆ” อยู่เป็นระยะ ในงานวิจัยหลาย ๆ เรื่องของเขาได้ชี้ให้เห็นถึงความได้เปรียบของชนชั้นสูงและชนชั้นปกครองไว้อย่างละเอียด พร้อมกับที่ได้ชี้ให้เห็นว่าพลังของชาวไร่ชาวนาและคนในชนบทจะสามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่คนไทยไม่ได้มี “พลังทางวัฒนธรรม” แบบคนญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นยอมรับความเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยของพวกเขาได้อย่างเป็นสุขและพอใจ ในขณะที่คนไทยจำนวนมากยัง “จมไม่ลง” และยังรู้สึกสบายดีและพอใจกับกับสภาพที่ชอบอาศัยพึ่งพิงที่ชนชั้นปกครองยังมอบให้ในปัจจุบัน

คนไทยยังพอใจกับการปกครองโดยเผด็จการ ถ้าเผด็จการนั้นมอบความสุขสบายบางอย่างให้ เช่น ความมั่นคง และการพัฒนาด้วนระบบราชการ หรือถ้ามีนักการเมืองเข้ามาปกครอง ก็พอใจที่จะให้นักการเมืองเหล่านั้นใช้นโยบายประชานิยมมาชโลมใจให้ไหลหลง แต่พอนักการเมืองโกงกินกันมาก ๆ ก้เรียกร้องหาเผด็จการอีก กงกริชเคยบ่นให้ผมฟังว่า อีกนานไหมหนอคนไทยจะมีจุดยืนอะไรที่ชัดเจนเสียที

กงกริชเสียชีวิตในปีที่เขากำลังจะเกษียณอายุราชการ และเขาเพิ่งจะได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มีคนสงสัยว่าเขาน่าจะได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์นั้นไปตั้งแต่นานมาแล้ว เพราะผลงานของเขามีมากและเป็นงานที่มีคุณภาพทั้งสิ้น รวมถึงเขาก็มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในแวดวงต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แม้แต่ในวงราชการและวงการเมือง เขาก็น่าจะได้รับเกียรติอื่น ๆ ที่ควรจะได้รับอีกมากมายนั้นด้วย

ผมเคยสนทนากับเขาในเรื่อง “ซีเรียส ๆ” ต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคมไทยและคนไทยนี้บ่อยครั้ง ในฐานะที่ผมเป็นครูบาอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ผมก็มีความทุกข์มาก ๆ เหมือนกับเขา ที่สังคมไทยไม่สามรถปรับตัวไปได้อย่างที่เขาต้องการ เช่นเดียวกันกับที่ผมต้องการที่จะเห็นการเมืองการปกครองของไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก ๆ กว่านี้ แต่ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่มาถึงวันนี้ บางทีเขาอาจจะมีความสุขและมีความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแอปลงนั้นเริ่มขึ้นแล้ว นั่นก็คือแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่จะกำลังต่อสู้ทางความเชื่อความคิดกับคนรุ่นเก่า ด้วยการ “ปลดแอกเสรีภาพ” ที่ถูก “ศักดินาแบบแอบอ้าง” เคยครอบงำมานั้น

ไปดีเถอะนะกงกริชเพื่อนรัก ช่วยเตรียมสวรรค์ให้พวกเราที่จะต้องตามไปนี้ด้วย

“สวรรค์ที่มีเสรีภาพ เท่าทียม และไร้ศักดินา”