Brother (บราเดอร์) ผู้นำนวัตกรรมเครื่องพิมพ์ จัดสัมมนา “Brother Innovation & Technical Textile” นำเสนอเทรนด์และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ หวังเพิ่มทักษะ และองค์ความรู้ให้กับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์ผลงาน และต่อยอดความสำเร็จต่อไป

นายพงษ์พันธ์ สุระวัฒน์เจริญ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขยายธุรกิจ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บราเดอร์ ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเครื่องพิมพ์ จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อนำเสนอ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมสัมมนา จะสามารถสร้างสรรค์ผลงาน และต่อยอดเป็นอาชีพใหม่ๆ ได้ โดยในครั้งนี้ได้เชิญไปยังสถาบันศึกษา ซึ่งมีคณะที่ดำเนินการเรียนการสอน ด้านการออกแบบ การตัดเย็บ มัณฑนศิลป์ เข้าร่วมการสัมมนา กว่า 20 มหาวิทยาลัย และยังได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เป็นวิทยากรพิเศษอีกด้วย”

โดยภายในงาน นายอาทิตย์ สองจันทึก ผู้อำนวยการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ได้บรรยาย ถึงแนวโน้มตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอ และแนวโน้มเกี่ยวกับการจ้างงานในอนาคต รวมถึงวิธีการยกระดับหรือทบทวน ทักษะความสามารถ และทักษะที่ควรมี เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจในด้านนี้ นอกจากการบรรยาย แนะนำนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการสิ่งทอแล้ว ในงานยังจัดให้มีชั้นเวิร์กช็อปที่น่าสนใจ เพื่อเป็นการต่อยอดอาชีพ หรือลู่ทางการประกอบอาชีพที่น่าสนใจอื่นๆอีกด้วย 

โอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนา ยังได้เผยถึงสิ่งที่ได้จากการร่วมงานครั้งนี้ด้วย โดยอาจารย์อณุภา คงปราโมทย์ (หนิง) หัวหน้างานการศึกษาพิเศษ DB ASOKE MODEL วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนาที่ได้นำนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ เผยว่า ตนได้ดูแลๆน้องๆที่บกพร่องในการได้ยิน น้องๆ ที่เรียนร่วมกับนักเรียนทั่วไป ในสาขางานการพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ 

“ที่ผ่านน้องๆเมื่อจบออกไปแล้วจะมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารในที่ทำงาน ทำให้รู้สึกว่าใช้ความสามารถได้ไม่เต็มที่ เลยทำให้กลับมาพิจารณาวาน้องๆ กลุ่มนี้เขาชอบอะไร ก็เห็นว่าพวกเขาชอบแต่งตัว เลยคิดว่าเราน่าจะเอาสนับสนุนเขาในเรื่องการออกแบบลายกราฟิกบนเสื้อผ้า กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มออกแบบแล้วสกรีนเสื้อก่อน ต่อมาเริ่มเห็นว่าแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ หากเป็นงานปักจะมีมูลค่าสูงกว่างานสกรีน จึงเริ่มส่งงานที่เด็กออกแบบราคาไปปักข้างนอก ซึ่งจะมีเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าบล็อก และหากส่งจำนวนน้อย ราคาจะตกเฉลี่ยต่อตัวสูง ต่อมามีศิษย์เก่าได้มาเห็นเราทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรเป็นโมเดลอาชีพแบบนี้กับเด็กกลุ่มนี้ เห็นว่าเราต้องส่งไปปักข้างนอก เขาจึงซื้อเครื่องปักให้ เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จ ทำให้เด็กๆ สามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานในงานออกแบบแล้วสั่งได้เลย”

โดยกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เรามี จึงเป็นการเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เขาได้เรียนรู้ ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกวัสดุที่จะนำมาใช้ในการผลิต แต่ละแบบสามารถสร้างมูลค่าได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้เด็กๆ เริ่มเห็นว่า เขาสามารถที่จะเอาไปทำเป็นอาชีพได้ ซึ่งการที่ได้พาเด็กๆมาร่วมสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากงานที่เขาทำเป็นพื้นฐาน แต่เราเรียนรู้กันเองไม่ได้ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน