ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

หัวใจที่เสรีย่อมไม่มีอะไรมากีดกั้น เว้นแต่เราจะมอบหัวใจนั้นไปให้คนอื่น

บรรพตหรือไอ้เต๋าของเพื่อน ๆ แม้ชีวิตจะมีความยุ่งเหยิงมากมาย แต่ก็สามารถเรียนจบได้ไม่ยาก เพราะในสมัยนั้นพวกเราเรียนกันแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” คือคนที่เรียนเก่งและตั้งใจเรียน ก็จะเป็นคนที่คอยจดเล็กเชอร์ แล้วเอามาให้เพื่อน ๆ ไปถ่ายเอกสาร โดยจะต้องจดให้ตัวเล็กสักหน่อย เพื่อประหยัดหน้ากระดาษ เนื่องจากค่าถ่ายเอกสารเมื่อ 40 กว่าปีก่อนนั้น ราคาหน้าละ 3 บาท ในขณะที่ก๋วยเตี๋ยวในโรงอาหารราคา 5 บาท แล้วพอใกล้เวลาสอบก็ต้องมาติวข้อสอบให้เพื่อน ๆ รวมถึงถ้าเพื่อน ๆ สอบไม่ผ่าน ติวเตอร์คนเก่งนั้นก็ต้องรับผิดชอบมาติวซ้ำให้จนกว่าจะสอบผ่านอีกด้วย

ไอ้เต๋ามีเพื่อนสนิทอยู่สองคน คือไอ้บอยกับไอ้ฉั่ว แต่ไอ้เต๋ามีฐานะแตกต่างจากเพื่อนสองคนนั้นมาก เพียงแค่มีรสนิยมอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือชอบดูแหม่ม ไอ้บอยกับไอ้ฉั่วมาชวนไอ้เต๋าไปเที่ยวสหรัฐอเมริกาด้วยกัน โดยขอวีซ่าไปในฐานะนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ไอ้เต๋าก็ไปขอยืมเงินญาติ ๆ และคนรู้จักบางคนได้มาพอเป็นค่าตั๋วเครื่องบินและวีซ่า ก็เดินทางไปกับสองคนนั้นด้วย แล้วชีวิตของไอ้เต๋าพลิกผันไปในทันทีที่เท้าแตะแผ่นดินลุงแซม

ไอ้เต๋าถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐกักตัวเพราะเอกสารวีซ่ามีปัญหา ดีที่ติดต่อสถานทูตให้มาช่วยได้ทัน อาจจะเป็นด้วยเส้นสายของไอ้บอยหรือไอ้ฉั่ว ที่ทางบ้านน่าจะมีส่วนช่วยอยู่มาก แต่กระนั้นไอ้ฉั่วก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ในสหรัฐมาอีกหลายปี กว่าที่จะสามารถหางานทำได้อย่างเปิดเผย และได้รับกรีนการ์ดเปลี่ยนสถานะเป็นพลเมืองอเมริกันในเวลาต่อมา

ไอ้บอยกับไอ้ฉั่วได้ปริญญากลับไปตามที่ตั้งใจ แม้จะมีคนแซวว่าเป็นปริญญาโทห้องแถว แล้วทั้งสองคนก็เดินทางกลับเมื่อเที่ยวเตร่อยู่ในสหรัฐเกือบ 5 ปี โดยเปลี่ยนที่พักไปใน 3 รัฐ คือแคลิฟอร์เนีย เทกซัส และแอริโซน่า ระหว่างนั้นก็มีไอ้เต๋าติดสอยห้อยตามไปไหนมาไหนด้วยโดยตลอด ซึ่งเมืองที่ทั้งสามคนชอบเดินทางไปมากที่สุดก็คือลาสเวกัส เพราะที่นั่นได้เปิดโอกาสให้ไอ้เต๋าได้เข้าไปใช้ความสามารถในด้านการพนัน “ทำมาหากิน” ได้พอสมควร โดยได้เข้าไปทำงานเป็นบ๋อยในระยะแรกที่สถานกาสิโนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง จากนั้นก็ไต่เต้าขึ้นเป็นคนดูแลโต๊ะบักคาร่ากับรูเล็ตต์ ทำให้สามารถได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่กระนั้นมันก็ต้องย้ายที่อยู่ไปมา จนเมื่อไอ้บอยไอ้ฉั่วกลับเมืองไทย มันก็กลับไปปักหลักอยู่ในแคลิฟอร์เนีย โดยเปลี่ยนที่พักไปเมืองโน้นเมืองนี้อยู่เป็นพัก ๆ ตามแต่คนไทยที่มันรู้จักจะอนุเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ

อย่างที่เคยบอกถึงนิสัยในส่วนดีของไอ้เต๋า ว่ามันไม่เคยทำร้ายใคร แม้แต่คนที่มาเล่นการพนันกับมัน มันก็ไม่เคยปล่อยให้หมดตัว ดังนั้นเมื่อคนไทยหลายคนที่อยู่ในสหรัฐฯมาเล่นการพนันที่ลาสเวกัส มันก็มักจะเข้าไปจุ้นจ้านแนะนำไม่ให้เสี่ยงเล่นในบางช่วงบางจังหวะ เพราะมันจะรู้ว่าช่วงไหนที่เจ้าของคาสิโนจะให้ “ดูดเงิน” ลูกค้า หรือปล่อยให้มี “แจ็คพอต” มันก็จะแนะนำคนไทยเหล่านั้น ทำให้มันเป็นที่รู้จักมักคุ้น และเอ็นดูมันอยู่มาก แต่นั่นแหละก็ทำให้มันอยู่ที่ลาสเวกัสต่อไปไม่ได้ มันจึงต้องมาอยู่ในลอสแอนเจลิสและเมืองอื่น ๆ ในแคลิฟอร์เนีย เพราะมีคนไทยที่เคยเกื้อกูลกันนั้นอาศัยอยู่

มันเคยคิดที่จะกลับเมืองไทยอยู่เหมือนกัน แต่พอมาอยู่ที่ลอสแอนเจลิสก็ลืมความคิดนั้นไป ไอ้เต๋าเกิดการเปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ในครั้งที่อยู่ในเมืองไทยกับที่ได้มาอยู่ในสหรัฐ มันเห็นว่าที่สหรัฐฯนั้นมีโอกาสที่มันจะได้ร่ำรวยได้ดีกว่า ที่เมืองไทยมันต้องรับราชการ ต้องมีเส้นสาย ต้องมีเจ้านายหรือผู้มีอิทธิพลคุ้มหัว มีระบบคนตัวเล็กต้องเกรงกลัวคนตัวใหญ่ ระบบอาวุโสและศักดินายุบยับ แต่ที่สหรัฐช่างเต็มไปด้วยเสรีภาพ ใครถ้าขยันไม่มีอดตาย หางานทำได้ง่ายถ้าไม่เลือกงาน แม้ว่ากฎหมายจะเด็ดขาดรุนแรงมาก แต่นั่นก็เป็นเครื่องคุ้มครองคนที่ทำมาหากินถูกต้อง และนี่คือสิ่งที่ไอ้เต๋าคิดว่าจะดีกับมันเป็นที่สุด คือกฎหมายเหล่านั้นจะช่วยให้มันเป็นคนดี และต่อไปมันก็จะมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในสังคมใหม่นี้

ไอ้เต๋าได้ใช้ประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการทำอาหารตั้งแต่ครั้งที่ช่วยป้าของมันที่เมืองไทย กับที่เคยเป็นบ๋อยและผู้ช่วยกุ๊กอยู่ในลาสเวกัส ไปสมัครงานในร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง ร้านนี้เป็นของครอบครัวคนไทยที่อพยพมาตั้งแต่ที่ยังไม่จบสงครามเวียดนาม ร้านนี้อยู่ในทำเลที่ดีมาก เพราะอยู่ติดกับตลาดไทยที่เป็นแหล่งรวมร้านค้าที่ขายสินค้าต่าง ๆ จากประเทศไทย และไม่ห่างไปมากนักก็มีวัดไทยมาตั้งอยู่ด้วย รวมถึงชุมชนคนไทยที่มีจำนวนหลายพันคน ซึ่งพอสงครามเวียดนามสิ้นสุดก็มีคนอพยพมาเป็นหมื่น ๆ ไม่เฉพาะแต่คนไทย แต่ยังรวมถึงคนญวน คนลาว และคนเขมร ที่อพยพหนีคอมมิวนิสต์มาอีกหลายหมื่นคนนั้นด้วย จนเมื่อปีที่ไอ้เต๋าทำงานในร้านอาหาร คือราว พ.ศ. 2530 ก็มีคนที่อพยพมาจากเอเชียมาอยู่ที่ลอสแอนเจลิสเกือบครึ่งล้าน รวมถึงเมืองอื่น ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาก็หลายล้านคน

ชีวิตของไอ้เต๋าเกิดการแปรเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อได้เจอ “ความรัก” เป็นความรักที่มันไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับคนที่ตัวเล็ก ๆ อย่างมัน แถมหน้าตาก็เป็นตี๋ ๆ ธรรมดา ทั้งยังมีสถานะที่ย่ำแย่ คือเป็นทั้งผู้อพยพหนีเข้าเมือง ทั้งยังจนกรอบยอบแยบแทบจะเอาตัวไม่รอด

“เรน่า” คือหญิงสาวที่เปลี่ยนชีวิตของมันในครั้งนั้น เธอเป็นคนไทยแต่มาเกิดในสหรัฐฯตั้งแต่ที่พ่อแม่ผู้เป็นเจ้าของร้านอาหารที่มันทำงานอยู่อพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐ แต่เธอก็พูดภาษาไทยได้ชัดเจน เพราะในบ้านยังพูดภาษาไทยด้วยกัน คลุกคลีอยู่กับคนไทย ไปทำบุญที่วัดไทยเสมอ ๆ ชอบศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นไทย ๆ และแต่งตัวเป็นไทย ๆ อยู่เป็นประจำ รวมถึงที่เรียกชื่อตัวเองเป็นภาษาไทยว่า “เรณู” นั้นอีกด้วย

ตอนที่ไอ้เต๋ามาทำงานที่ร้านอาหารไทย เรณูกำลังเรียนอยู่ในชั้นไฮสคูลปีสุดท้าย โดยเรณูชอบมาช่วยงานที่ร้านอาหารของพ่อกับแม่นั้นแทบทุกสัปดาห์ เธอชื่นชอบอาหารจีนกับไทยฝีมือของไอ้เต๋าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปลากะพงนึ่งซีอิ๊วกับไก่ผัดเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถึงกับชวนเพื่อน ๆ มาจัดปาร์ตี้ที่ร้านเพื่อให้ลิ้มลองเมนูทั้งสองนั้นอยู่บ่อย ๆ ในบางโอกาสเธอก็จะเข้าไปในครัวดูไอ้เต๋าทำอาหาร แต่ที่ชอบมาก ๆ คือคุยกับไอ้เต๋าในเรื่องของคนไทยและชีวิตไทย ๆ ที่เธอไม่มีโอกาสได้สัมผัส ซึ่งด้วยความสามารถในการพรรณนาของไอ้เต๋า ที่มีชีวิตชีวา มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ ทั้งยังตลกและคุยสนุก ทำให้เธอติดอกติดใจแวะเวียนมาคุยกับไอ้เต๋าอยู่เป็นประจำ แม้แต่ในเวลาพักหรือวันหยุดของไอ้เต๋า เธอก็เซ้าซี้ขอให้ไอ้เต๋าพาไปเที่ยวที่โน่นที่นั่น เพียงเพื่อจะได้ฟังเรื่องสนุก ๆ จากไอ้เต๋า ที่เกี่ยวกับเมืองไทยและชีวิตของไอ้เต๋า

ปีต่อมาเรณูก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยใกล้ ๆ ลอสแองเจลิส แม้ว่าจะทำให้ต้องห่างเกินกันไปบ้าง แต่ความรู้สึก “พิเศษ” กลับยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น จนทั้งสองสารภาพว่า “ชอบกัน” ในอีกไม่นานต่อมา และไอ้เต๋าสัญญาว่าจะพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวให้ได้ อย่างน้อยก็เพื่อสู่ขอเรณูตามธรรมเนียมไทย ซึ่งไอ้เต๋าก็รู้ดีว่าเป็นคำพูดลม ๆ แล้ง ๆ เพราะพ่อแม่ของมันที่เมืองไทยก็ไม่มีแล้ว และก็ไม่มั่นใจว่าพ่อแม่ของเรณูจะเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่

เมื่อหัวใจของมันถูกผูกมัด ก็ดูเหมือนเสรีภาพจะถูกปิดขังไปด้วย แต่ไอ้เต๋าก็ยินยอมพร้อมใจด้วยดี